Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

เตรียมพร้อม...เพื่อรับมือกับมาตรฐานใหม่ Water Footprint

คะแนนเฉลี่ย
เทรนด์การผลิตสินค้าเกษตรของโลกที่มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพอย่าง Water Footprint กำลังทวีความสำคัญและจะเข้ามามีบทบาทในภาคเกษตรมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งสินค้าที่มี Water Footprint ต่ำย่อมได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความยั่งยืนในทรัพยากรน้ำ มากกว่าสินค้าที่มี Water Footprint สูง เพราะมีการใช้น้ำอย่างประหยัดในการผลิตสินค้า จึงทำให้ Water Footprint  เป็นกระแสใหม่ที่มาแรงในแง่ของการรักษ์โลกที่หลายประเทศได้ตระหนักมากขึ้นในการผลิตสินค้า

การที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก และด้วยโครงสร้างภาคเกษตรของไทย ที่เน้นการส่งออกสินค้าเกษตรมากกว่าการใช้ในประเทศ  จึงทำให้ทรัพยากรน้ำของไทย ถูกนำไปใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นทั้งหมด  ปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อคนไทยเอง และปริมาณน้ำที่แฝงไปในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงมีสัดส่วนที่สูง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของไทยที่มีภาพรวมฝนตกอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้พืชดูดซึมน้ำได้ดี แต่ความเสื่อมโทรมของดิน และพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรน้อย ทำให้ภาพรวมผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นค่า Water Footprint ของการผลิตสินค้าเกษตรของไทย เช่น ข้าว น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป จึงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยควรเร่งสร้างความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของน้ำให้มากที่สุด แต่ในฝั่งของการบริหารจัดการด้านอุปทานน้ำของไทย เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยิ่งทำให้ปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น ไทยจึงควรมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนด้านการผลิตสินค้าเกษตร ที่ต้องมีการใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้น  ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ในท้ายที่สุด ผู้บริโภคที่มีแนวโน้มตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม จะมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่ใช้น้ำน้อย และจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกษตรไปสู่สินค้าที่ใช้น้ำน้อยมากขึ้นด้วย จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า และสามารถวางแผนได้ในแง่ของการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคต ท่ามกลางภาวะแนวโน้มทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด

มีความเป็นไปได้สูงที่ในระยะข้างหน้า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่หันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อาจมีแนวโน้มกดดันให้นำค่า Water Footprint มาใช้เป็นมาตรฐานบังคับให้ประเทศผู้ผลิต ต้องดำเนินการไม่ให้สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และอาจหยิบยกมาใช้เป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) เพราะผู้บริโภคเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้า ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แม้ขณะนี้ Water Footprint ในไทย จะยังไม่ได้บังคับเป็นมาตรฐานให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตร เพื่อการส่งออกต้องดำเนินการ แต่จะเป็นการดีหากไทยสามารถเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับมาตรฐานดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต





                         

                                                                                                                                                     ​    ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest