Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มิถุนายน 2552

อุตสาหกรรม

ตลาดเครื่องสำอางปี ‘52: กระแสรักสวย-รักงาม...ยังคงทำให้ธุรกิจขยายตัว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2525)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดจำหน่ายเครื่องสำอางในประเทศ (รวมเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศและเครื่องสำอางนำเข้า) มีมูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4-5 จำแนกตามช่องทางการจัดจำหน่ายสามารถแบ่งเป็น จำหน่ายตามช่องทางเคาน์เตอร์แบรนด์ 11,000 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไปและไดเร็กต์เซลมีมูลค่า 22,000 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจาก พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้หญิงยังให้ความสำคัญกับการดูแลความสวย ความงาม และสุขภาพ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนในสังคม แม้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงชะลอตัว แต่พฤติกรรมผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องสำอางไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เพียงแต่จะมีการวางแผนในการเลือกซื้อเครื่องสำอางก่อนทุกครั้ง

ส่วนตลาดส่งออก คาดว่า มีมูลค่าประมาณ 33,000-34,000 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่ประมาณร้อยละ 4-7 เมื่อเทียบกับปี 2551 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ผลจากการเจรจา FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และอินโดนีเซียภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ส่งผลให้ภาษีนำเข้าลดลงเหลือร้อยละ 0 ในช่วงต้นปี 2553 ทำให้ยอดการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ทั้ง 3 ประเทศนี้ ถือได้ว่าเป็นตลาดหลักในการส่งออกเครื่องสำอางของไทย

สำหรับตลาดใหม่ที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ทั้งนี้เนื่องจากกระแสการรักสุขภาพ รวมทั้งความรักสวย รักงามที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่วนการนำเข้าเครื่องสำอางของไทยคาดว่า น่าจะชอลอตัวลงตามกำลังซื้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตลาดนำเข้าเครื่องสำอางส่วนใหญ่จะมีราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสนใจเครื่องสำอางที่มีราคาระดับกลางถึงล่างแทน และจะเห็นได้ว่า ตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจได้แก่ เกาหลีใต้ ทั้งนี้เนื่องจากกระแส K-POP หรือ เกาหลี Fever ส่งผลให้สินค้าจากประเทศเกาหลีใต้ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องสำอางเกาหลีใต้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับผิวคนไทยมากกว่าเครื่องสำอางจากฝั่งอเมริกาและยุโรป เพราะคนไทยกับคนเกาหลีใต้มีสภาพผิวใกล้เคียงกัน อีกทั้งราคาจำหน่ายที่ไม่แพง จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าคนไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงต้องปรับกลยุทธ์การตลาดในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทั้งในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนปรับพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งการแข่งขันของตลาดเครื่องสำอางทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงรุนแรง ซึ่งกลยุทธ์ที่น่าจะนำมาใช้ในปีนี้ ได้แก่ สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้มีความโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ออกผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างจากสินค้าที่วางจำหน่าย สร้างความหลากหลายของสินค้าเพื่อขยายฐานตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น จัดการวางตำแหน่งสินค้า และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น เร่งขยายช่องทางการจัดจำหน่าย การโฆษณาผ่านสื่อใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากสื่อดั้งเดิม และการลด แลก แจกแถม แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เครื่องสำอางของผู้บริโภคนั้น ควรที่จะเลือกเครื่องสำอางด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงสภาพผิวและประสิทธิภาพของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ควรพิจารณาส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ด้วยว่ามีความปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม