Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 มิถุนายน 2548

อุตสาหกรรม

เครื่องสำอางปี'48 : แนวโน้ม...มีโอกาสเกินดุล 10,000 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2548 ไทยมีการส่งออกเครื่องสำอางอันประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือแต่งหน้า และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาผิว(Beauty Products) ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้กับผม(Hair Preparations) เช่นแชมพู น้ำมันใส่ผม น้ำยาย้อม ยืด และดัดผม เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยของช่องปากและฟัน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย (Shaving, Bath, Deodorant Products) เช่น ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ โลชั่น น้ำยาดับกลิ่นกาย และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ก่อนและหลังการโกนหนวด เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์หัวน้ำหอมและน้ำหอม (Essential Oil Resinoid) ไปต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 7,269.6 ล้านบาทและตลาดส่งออกสินค้าเครื่องสำอางที่สำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 3,207.7 ล้านบาท โดยแหล่งนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางที่สำคัญของไทยได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ที่คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องสำอางโดยรวม ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าในช่วงเวลาดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 4,061.9 ล้านบาท และเป็นหนึ่งในรายการสินค้าส่งออกนำเข้าที่ไทยยังคงความได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยในปี 2544 สินค้าเครื่องสำอางไทยเกินดุลการค้า 7,238 ล้านบาท และเกินดุลถึง 11,125.6 ล้านบาทในปี 2547 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2548 เครื่องสำอางไทยยังน่าจะยังคงความได้เปรียบดุลการค้าเอาไว้ได้ในระดับ 10,000-13,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าการส่งออกเครื่องสำอางทั้งปีขยายตัวร้อยละ 15-20 และการนำเข้าทั้งปีขยายตัวร้อยละ 12-15

ซึ่งรายการสินค้าในหมวดเครื่องสำอางที่ไทยเกินดุลในช่วง 4 เดือนแรกปี 2548 ยังคงเป็นกลุ่มเดิมเหมือนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อันได้แก่ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้กับผม(เกินดุล 4,013.5 ล้านบาท) ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยของช่องปากและฟัน(เกินดุล 373.5 ล้านบาท) และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย(เกินดุล 540.7 ล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกันพบว่ายังคงมีสินค้าเครื่องสำอางที่ไทยขาดดุลด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว อันได้แก่ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม(ขาดดุล 516.9 ล้านบาท) และผลิตภัณฑ์หัวน้ำหอมและน้ำหอม(ขาดดุล 349 ล้านบาท) ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งสองรายการเป็นสินค้าที่ไทยขาดดุลติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าและชื่อเสียงที่สะสมมานานของสินค้าชั้นนำในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรป ทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงให้ความไว้วางใจและนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากตลาดดังกล่าวค่อนข้างสูง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าเครื่องสำอางไทยโดยรวมขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรคิดเป็นมูลค่า 621.3 ล้านบาท 677.8 ล้านบาท และ128.1 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่สินค้าเครื่องสำอางไทยได้เปรียบดุลการค้าได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน(เกินดุลถึง 3,371.7 ล้านบาท) ญี่ปุ่น(เกินดุล 716.3 ล้านบาท) ออสเตรเลีย (เกินดุล 365.4 ล้านบาท) อินเดีย(เกินดุล 320.6 ล้านบาท) และเกาหลีใต้(เกินดุล 279.7 ล้านบาท) จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าตลาดเอเชียจะเป็นตลาดอันดับหนึ่งของสินค้าเครื่องสำอางไทยที่สำคัญต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยต้องสามารถเพิ่มการส่งออกเครื่องสำอางไปยังตลาดดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง และมีการรักษาและพัฒนาการผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากลอย่างจริงจัง รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวไม่ถดถอยมากนักด้วย

ดุลการค้าสินค้าเครื่องสำอางของไทย
2544
2545
2546
2547
ม.ค.เม.ย.2547
ม.ค.เม.ย.2548
เครื่องสำอางโดยรวม
7,238.0
8,017.8
9,653.3
11,125.6
3,102.2
4,061.9
-ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
-161.4
-523.8
-534.1
-963.0
-585.0
-516.9
-ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้กับผม
5,510.8
6,829.8
8,140.0
9,846.0
2,919.4
4,013.5
-ผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยของช่องปากและฟัน
1,424.2
1,135.7
1,330.6
1,485.7
433.5
373.5
-ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย
881.3
655.5
775.8
1,503.8
556.4
540.7
-ผลิตภัณฑ์หัวน้ำหอมและน้ำหอม
-416.8
-79.3
-57.0
-746.9
-222.2
-349.0

ที่มา : กรมศุลกากร รวบรวมโดยฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม