Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤษภาคม 2549

อุตสาหกรรม

ตลาดเครื่องสำอางปี'49 : เน้นคุณภาพ...สร้างความแตกต่าง...ขยายตลาด

คะแนนเฉลี่ย

เป็นที่น่าสังเกตว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในเมืองไทยปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญต่อเครื่องสำอางเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยนับตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน และไม่เฉพาะแต่กลุ่มสุภาพสตรีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ในกลุ่มสุภาพบุรุษที่นับวันจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับด้วย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งหน้าหรือบำรุงผิว สิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผม สิ่งปรุงแต่งเพื่ออนามัยในช่องปากและฟัน หรือสิ่งปรุงแต่งที่ใช้โกนหนวด อาบน้ำและดับกลิ่นตัว โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในเมืองไทยมีมูลค่าการตลาดรวมกันเกินกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนภาวะตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายในประเทศในปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะเป็นไปในลักษณะที่ทรงตัวจากปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจด้วยระดับการเติบโตประมาณร้อยละ 8-10 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มอิ่มตัวได้แก่ ผลิตภัณฑ์แชมพู-ครีมนวดผม และสบู่ก้อน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มที่ค่อนข้างดีคือ เครื่องสำอางประเภทครีมกันแดด ครีมต่อต้านริ้วรอย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาว

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเครื่องสำอางไทยในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในเมืองไทยจะมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยหลายปัจจัย อาทิเช่น เทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวกับนวัตกรรมในการสร้างสรรค์สูตรผสมใหม่ๆที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร และปัญหาด้านการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ เพื่อนำมาผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเครื่องสำอางอย่างเป็นระบบ หรือด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศในปี 2549 ก็มีแนวโน้มหดตัวลง อันเนื่องมาจากภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์การแข่งขันในตลาดเครื่องสำอางเมืองไทยในปี 2549 ที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นมากขึ้น เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายในประเทศก็ยังมีปัจจัยที่หนุนศักยภาพการแข่งขันของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยหลาย ประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสมุนไพรที่สามารถพัฒนาเป็นวัตถุดิบได้อีกเป็นจำนวนมาก ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจจะค่อนข้างทรงตัว เพราะปัจจุบันผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยต่างหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและภาพลักษณ์ของตนเองกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีช่องทางการจำหน่ายหลายช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เป็นต้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การสร้างความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายในประเทศในปี 2549 จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความได้เปรียบด้านความแตกต่าง(Differentiation) ทั้งในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และส่วนผสมหรือสูตรที่สามารถตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่แยกย่อย หรือมีความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น และชูเอกลักษณ์ความเป็นไทยทั้งในด้านรูปลักษณ์และกลิ่นควบคู่ด้วย สำหรับด้านวัตถุดิบก็ควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิจัยสมุนไพรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในด้านบรรจุภัณฑ์ก็ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่องทางด้านการออกแบบรูปแบบให้สวยงาม ทันสมัย และมีสีสันที่ดึงดูดใจ รวมทั้งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือมีรูปแบบที่สะดวกต่อใช้งาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหม่ๆก็ต้องเร่งสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการวางตำแหน่งสินค้าให้ชัดเจนด้วย ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมที่มีตราสินค้าเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ก็ต้องมีการประเมินสถานะของสินค้าอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ตราสินค้าของกิจการยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และมีโอกาสในการเพิ่มหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ต่อไป นอกจากนี้ภาคเอกชนและภาครัฐควรร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและสนับสนุนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางโดยด่วน ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปความสำเร็จในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว ซึ่งไม่เฉพาะแต่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดในระดับโลกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม