Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 เมษายน 2550

เศรษฐกิจต่างประเทศ

FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ : เร่งกระแส FTA ... ช่วงชิงขีดความสามารถทางการแข่งขัน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1965)

คะแนนเฉลี่ย
สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ได้ข้อสรุปการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ในวันที่ 1 เมษายน 2550 ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้กับประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้ากับประเทศทั้งสอง ให้หันมาเร่งเปิดเขตการค้าเสรีเพื่อรักษาและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับการส่งออกสินค้าและบริการของตนในตลาดสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เนื่องจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต่างเปิดตลาดสินค้าและบริการให้แก่กันมากขึ้น คาดว่า ความตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้จะสนับสนุนให้มูลค่าการค้ารวมของทั้งสองฝ่ายขยายตัวทะลุระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันที่มูลค่าการค้ารวมของสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ราว 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การลดภาษีศุลกากรสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้ FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ จะส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เกือบทั้งหมด (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 94% ของสินค้าอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ค้าขายกัน) จะปรับลดภาษีลงเหลือ 0% ภายใน 3 ปี และยกเลิกภาษีที่เหลือภายใน 10 ปี ที่สำคัญ ได้แก่ สิ่งทอและเสื้อผ้า โดยทั้งสองฝ่ายจะยกเลิกภาษีสิ่งทอและเสื้อผ้าส่วนใหญ่ทันทีที่ความ ตกลง FTA มีผลบังคับใช้ ส่วนสินค้ายานยนต์ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะลดภาษีศุลกากรรถยนต์ขนาดเล็กทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ จะปรับลดภาษีภายใน 3-10 ปี ทางด้านภาคเกษตร เกาหลีใต้ยอมยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2546 ที่เกิดโรคระบาดวัวบ้าในสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ยอมยกเว้นข้าวออกจากการเจรจาเพื่อลดภาษีภายใต้ FTA
การเปิดตลาดสินค้าของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ภายใต้การจัดทำความตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้หลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาทั้งสองฝ่ายแล้ว จะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่ส่งออกสินค้าสำคัญที่อยู่ในรายการเปิดตลาดของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ได้แก่ สินค้ายานยนต์ สิ่งทอ/เสื้อผ้า และเนื้อโค เนื่องจากขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จะลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่เจรจาความตกลง FTA ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าเหล่านี้อาจต้องเร่งพิจารณาจัดทำ FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ หรือจัดทำ FTA ระดับภูมิภาค เช่น การจัดทำ FTA ระหว่างญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกของตนเอง
รายการสินค้า
ประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ
ยานยนต์
- ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน
สิ่งทอและเสื้อผ้า
- จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฮ่องกง บังคลาเทศ ฟิลิปปปินส์
กัมพูชา ไทย และไต้หวัน
เนื้อโค
- ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับประเทศไทย การจัดทำ FTA ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับไทยไม่มากนัก เนื่องจากไทยส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปสหรัฐฯ ไม่มากนักเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 1.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลักของสินค้ายานยนต์ของไทย ได้แก่ ตลาดอาเซียน ส่วนเนื้อโคไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการลดภาษีสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอของสหรัฐฯ ให้กับเกาหลีใต้ เนื่องจากเสื้อผ้าและสิ่งทอส่งออกของเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ จะมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคากับเสื้อผ้าและ สิ่งทอของไทยมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ แม้ว่าขณะนี้ไทยครองส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอในสหรัฐฯ ได้มากกว่าเกาหลีใต้ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอในสหรัฐฯ ราว 2.5% ขณะที่เกาหลีใต้มีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้าในสหรัฐฯ ราว 1.2% แต่การลดภาษีของสหรัฐฯ ให้กับเสื้อผ้าและสิ่งทอส่งออกของเกาหลีใต้ จะทำให้สินค้าส่งออกชนิดเดียวกันของไทยต้องแข่งขันกับเกาหลีใต้มากขึ้น ปัจจุบันเสื้อผ้าและสิ่งทอเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ โดยปัจจุบันไทยส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสหรัฐฯ ปีละมากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอไทยจะต้องเตรียมเผชิญกับการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากการแข่งขันกับสิ่งทอและเสื้อผ้าราคาถูกจากจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ