Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤษภาคม 2562

Econ Digest

หนี้ภาคธุรกิจจีน ส่งสัญญาณก่อตัว

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบัน จีนเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายที่มากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ และหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงนั้นคงหนีไม่พ้น ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจที่เติบโตในอัตราเร่ง ซึ่งหากพิจารณาโครงสร้างหนี้จีน จะพบว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของจีน ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ระดับ 248.9% โดยหนี้ภาคธุรกิจมีสัดส่วนสูงถึง 163.6% ทั้งนี้ การก่อหนี้ของภาคธุรกิจจีนเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤต Subprime ที่จีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน จนนำไปสู่ภาวะ Overcapacity ในหลายอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคธนาคารเงาเติบโตรวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากตอบโจทย์ในส่วนที่เข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ได้ยากหรือในต้นทุนที่สูง อย่างไรก็ดี จีนเล็งเห็นถึงความเสี่ยงดังกล่าว และได้เริ่มออกมาตรการดูแลตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างด้านอุปทาน โดยลดกำลังการผลิตส่วนเกิน ควบคู่ไปกับการลดการก่อหนี้ (Deleverage) ทั้งนี้ การคุมเข้มดังกล่าวในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ได้ส่งผลให้หลายบริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

สถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ล่าสุด? จากข้อมูลของ China Central Depository & Clearing Co., Ltd. ปี 2561 มีการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจจีนจำนวน 120 เคส (46 บริษัท) คิดเป็นมูลค่า 1.11 แสนล้านหยวน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (คิดเป็น 0.13% ของมูลค่าตลาดพันธบัตร (Bond Market) จีน ณ สิ้น ปี 2561 หรือคิดเป็น 0.12% ของจีดีพีปี 2561) ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ระหว่างปี 2557-2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 122 เคส คิดเป็นมูลค่า 0.86 แสนล้านหยวน ทั้งนี้ จากข้อมูลที่สามารถรวบรวมได้ พบว่าในปี 2561 บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้กว่า 46% กระจายอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน เหมืองแร่ พลังงาน สิ่งทอ อสังหาริมทรัพย์ ขณะที่หุ้นกู้ที่ออกมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 3.19 ปี

แล้วหนี้ภาคธุรกิจจีนน่ากังวลแค่ไหน? หากพิจารณาในแง่มิติของเวลา คงตอบได้ว่าในระยะสั้นยังไม่น่ากังวลและคงไม่นำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้ 1. มูลค่าการผิดนัดชำระหนี้เมื่อเทียบกับจีดีพียังอยู่ในระดับต่ำ 2. ทางการจีนรักษาต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับต่ำและอัดฉีดสภาพคล่อง ผ่านการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) 3. มีการดูแลกิจการที่มีปัญหาเป็นกรณี โดยเฉพาะหากเป็นกิจการขนาดใหญ่และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ คาดว่าจะช่วยลดผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี แม้ในระยะสั้น ปัญหานี้จะได้รับการดูแลจากทางการจีนไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ระยะถัดไปยังต้องติดตามกันต่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะหากไม่แก้ที่ต้นเหตุ มาตรการที่ออกมาข้างต้นก็จะเป็นเพียงการยื้อเวลา และเมื่อปัญหาปะทุขึ้นมาอีกครั้งย่อมทวีความรุนแรงตามไปด้วย

#เศรษฐกิจจีน #ความเสี่ยง #หนี้ภาคธุรกิจจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest