Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤษภาคม 2562

Econ Digest

เม.ย. 62 ดัชนีครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปรับตัวลดลง

คะแนนเฉลี่ย

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปรับตัวลดลงจากเดิมที่ระดับ 45.9 ในเดือน มี.ค. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 43.5 ในเดือน เม.ย. 2562 เนื่องจากครัวเรือน
มีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของตนเองในทุกมิติ ได้แก่ (1) ด้านรายได้และการมีงานทำ โดยการจ้างงานของครัวเรือนนอกภาคเกษตรเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว ขณะที่ครัวเรือนเกษตรมีรายได้ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากอยู่ในช่วงการปิดกรีดหน้ายางและหมดฤดูทำนา (2) ด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ผลสำรวจพบว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนก่อน ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยชั่วคราวและปัจจัยเชิงฤดูกาล เช่น รายจ่ายที่ใช้ในการท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาช่วงสงกรานต์ รายจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการใช้จ่ายในช่วงสภาพอากาศที่ร้อน (3) ด้านราคาสินค้าและบริการ ครัวเรือนมองว่า ราคาอาหาร พลังงาน และค่าบริการสาธารณะที่ปรับเพิ่ม เริ่มส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของตน (4) ด้านภาระหนี้สิน พบว่า ครัวเรือนไทยบางส่วนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขอสินเชื่อ
ใหม่ และมีค่าใช้จ่ายพิเศษให้ต้องกู้ยืม จำนา และจำนอง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา

สำหรับ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.7 สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.-ก.ค. 2562) ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย และระดับราคาสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ภาครัฐได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ประกอบไปด้วยมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มาตรการเกี่ยวกับภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนกรรมสิทธ์และการจดจำนองที่อยู่อาศัย ซึ่งมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์และบรรเทาภาระค่าครองชีพได้บางส่วน โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะลากยาว ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยกดดันรายได้เกษตรกรและราคาอาหารสดภายในประเทศ อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจจะชะลอตัวมากขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และจีนตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกา ซึ่งก็น่าจะส่งผลต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงานภายในประเทศ


#เศรษฐกิจ #ค่าครองชีพ #KRECI

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest