Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 พฤษภาคม 2562

Econ Digest

นายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ ลาออก ส่อ Brexit อาจถึงทางตัน

คะแนนเฉลี่ย

นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ว่าจะลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในวันที่ 7 มิถุนายน 2562 หลังจากได้รับแรงกดดันภายในพรรค เพื่อเปิดทางให้มีการสรรหาผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป เนื่องจากประสบความล้มเหลวในการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภ าอังกฤษต่อร่างฎหมายข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรป (Withdrawal Agreement Bill) ซึ่งร่างข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษมาแล้วถึง 3 ครั้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การลาออกดังกล่าวสะท้อนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อังกฤษอาจจะออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไข (No Deal) ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายใหม่ที่เพิ่งได้รับการขยายเวลาไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นางเทเรซ่า เมย์ พยายามหาแนวทางสนับสนุนจากพรรคแรงงานเพื่อให้ช่วยออกเสียงให้ ความเห็นชอบต่อร่างข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรปที่เธอพยายามผลักดัน โดยตอบรับข้อเสนอของพรรคแรงงานให้จัดการลงประชามติครั้งที่สอง แต่ท่าทีดังกล่าวกลับสร้างกระแสความไม่พอใจภายในพรรคอนุรักษ์นิยม ทั้งยังเพิ่มความแตกแยกภายในพรรคมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสที่ร่างข้อตกลงจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาลางเรือนออกไ ป แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นภายในพรรค ทำให้นางเทเรซ่า เมย์ ตัดสินใจประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2562 คาดว่า ระยะเวลาในการสรรหาผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่

ซึ่งจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไปนั้น จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน หรือภายในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ผู้ที่มีโอกาสได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคคนใหม่นั้น มีทั้งนักการเมืองที่สนับสนุนแนวทางการออกจากสหภาพยุโรป (Brexiteers) แม้ว่าจะต้องออกโดยไม่มีเงื่อนไขก็ตาม เช่น นายบอริส จอห์นสัน และ นายโดมินิก ราบบ์ รวมถึงนักการเมืองที่สนับสนุนให้อังกฤษยังคงอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปต่อไป เช่น นายเจเรมี่ ฮันท์ อย่างไรก็ตาม คาดว่า นายบอริส จอห์นสัน มีโอกาสสูงที่จะได้รับการเลือกเป็นผู้นำคนใหม่ แต่หาก นายบอริส จอห์นสัน ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ยังคงไม่ชัดเจนว่า ผู้นำอังกฤษจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ถ้าอังกฤษจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไข

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมของนางเทเรซ่า เมย์ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงยิ่งขึ้นที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศ จากเงื่อนไข (No deal) เนื่องจากอังกฤษอาจจะต้องเผชิญกับภาวะทางตันทางการเมือง เนื่องจากร่างข้อตกลงฉบับดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกรัฐสภ า ทั้งยังคงมีความเห็นที่ต่างกันจนยากที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้ การแสวงหาทางออกโดยวิถีทางการเมืองยังคงตีบตัน แม้ว่าจะมีความพยายามจากพรรคฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยมยังได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ ขณะที่ความพยายามในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาสามัญชนไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ซึ่งส่วนข้อเรียกร้องของพรรคแรงงานให้จัดการลงประชามติครั้งที่ 2 รวมถึง ข้อเรียกร้องให้ถอน (Revoke) การออกจากสหภาพยุโรปตามมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาลิสบอน นั้น ไม่เป็นที่ยอมรับจากนักการเมืองฝ่ายขวาในพรรคอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ยังบ่งชี้ว่า ประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนแนวทางการออกจากสห ภาพยุโรป โดยปรากฏว่า พรรค Brexit ภายใต้การนำของนายไนเจล ฟาราจ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุด เหนือคะแนนเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงาน ขณะเดียวกัน คาดว่า อังกฤษจะไม่ได้รับโอกาสให้ขยายเวลาการออกจากสหภาพยุโรปต่อไปได้อีก แล้ว จากปัจจัยเหล่านื้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า โอกาสที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไขยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไขแล้ว อังกฤษจะต้องอยู่ในสถานะประเทศสมาชิกองค์กรการค้าโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ภายใต้ข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรปหรือสหภาพศุ ลกากร ดังนั้น อังกฤษจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาทางเจรจาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มควา มร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มประเทศยุโรป เช่น สมาชิกเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area: EEA) อันเป็นตลาดร่วมกับกลุ่มประเทศในยุโรปในรูปแบบเดียวกับนอร์เวย์ รวมถึงอาจเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอังกฤษและสหภาพ ยุโรปในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ระหว่างที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากเงื่อนไข อาจจะส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ระหว่างอังกฤษกับชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกรรมระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เช่น ค่าใช้จ่ายตรวจสอบในพิธีการศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมืองระหว่างกัน นอกจากนี้ กรณีดังกล่าว ยังส่งผลให้นักลงทุนขาดความไว้วางใจฝ่ายการเมืองที่มักตัดสินใจบนพื้นฐาน ของคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จึงมักจะมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ต้นทุนจากความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มมากยิ่งขึ้น

#Brexit #EU #เทเรซ่า

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest