Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ธันวาคม 2562

Econ Digest

FTA อินโดนีเซีย-เกาหลีใต้ จับตา...อุตสาหกรรมรถยนต์และการเกษตรไทย

คะแนนเฉลี่ย

นานาชาติหันมาให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น เพื่อบรรเทาสภาวะการค้าโลกค่อนข้างปั่นป่วนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งมีวิสัยทัศน์ดังกล่าวค่อนข้างชัดเจน จะเห็นได้ว่าตลอดปี 2562 ทางการเกาหลีใต้เดินหน้าผลักดันการเจรจาการค้าจนบรรลุออกมาเป็น FTA ได้ถึง 3 ฉบับ ประกอบด้วยฮอนดูรัส นิการากัว และสหราชอาณาจักรโดยลงนามความตกลงเพื่อคงสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ภายใต้กรอบ FTA เกาหลีใต้-สหภาพยุโรปเอาไว้ในกรณีที่ถ้าอังกฤษจะต้องออกจาก EU โดยไม่มีความตกลงใดๆ นอกจากนี้ ยังมี FTA ที่อยู่ระหว่างเจรจาอีกไม่ต่ำกว่า 7 ฉบับที่พร้อมจะมาช่วยกระจายความเสี่ยงของตลาดโลกในระยะข้างหน้า ในจำนวนดังกล่าวก็มีอาเซียน 3 ประเทศ ประกอบด้วยฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และโดยเฉพาะอินโดนีเซียนับว่าคืบหน้ามากที่สุดจนสามารถพร้อมเปิดเสรีการค้าได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระหว่างเกาหลีใต้-อินโดนีเซีย (Korea-Indonesia Comprehensive Economic Partnership Agreement: KI-CEPA) เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างอินโดนีเซียและเกาหลีใต้เพียง 2 ประเทศเท่านั้น การเจรจาเปิดตลาดการค้าจึงให้สิทธิในการลดภาษีสินค้านำเข้าที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมรายการสินค้าทั้งของอินโดนีเซียกับเกาหลีใต้ในสัดส่วนสูงถึง 93% และ 95.5% ของสินค้าทั้งหมด ตามลำดับ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตลาดโดยนำสินค้ามาลดภาษีระหว่างกันมากกว่ากรอบการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea FTA: AKFTA) ที่ทั้งอินโดนีเซียและเกาหลีใต้เป็นสมาชิกอยู่ แต่ทั้งคู่เปิดตลาดให้แก่สมาชิกในระดับต่ำกว่าโดยอยู่ที่ร้อยละ 80.1% และ 90.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่ KI-CEPA นำมาพิจารณาลดภาษีเพิ่มเติมในการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คือ สินค้ากลุ่มอ่อนไหว (Sensitive lists: SL) และอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive Lists: HSL) ตามความตกลง AKFTA ที่ปัจจุบันไม่ลดภาษีลงอีกแล้ว

การที่สินค้าอินโดนีเซียได้ประโยชน์เข้าทำตลาดเกาหลีใต้ ทำให้สินค้าไทยบางกลุ่มเท่านั้นที่เสียประโยชน์ซึ่งในประเด็นนี้มีมูลค่าไม่มากนัก โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้า SL และ HSL ตามข้อกำหนดของ AKFTA ที่สินค้าไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้มีมูลค่าประมาณ 90 ล้านดอลลาร์ฯ (1.9% ของการส่งออกไทยไปเกาหลีใต้ที่มีมูลค่า 4,940 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561) แม้ว่าการลดภาษีตามกรอบ KI-CEPA ในระยะข้างหน้าจำทำให้สินค้าอินโดนีเซียมีความได้เปรียบในการทำตลาด แต่สินค้าส่วนใหญ่เป็นคนละกลุ่มกับสินค้าไทย อาทิ ถ่านหิน ทองแดง ยางพารา ดีบุก จึงมีสินค้าบางรายการเท่านั้นที่ไทยอาจต้องแข่งกับสินค้าอินโดนเซีย อาทิ ผัก ผลไม้ ธัญพืช สินค้าประมง และอาหารแปรรูป

ขณะที่การส่งสินค้าไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียกำลังจะสูญเสียแต้มต่อทางภาษีไปจากการเปิดสรี KI-CEPA ซึ่งสินค้ายานยนต์เป็นสิ่งที่เกาหลีใต้ได้ประโยชน์และซ้อนทับกับสินค้าไทย แต่สินค้าไทยอยู่คนละห่วงโซ่การผลิตกับนักลงทุนเกาหลีจึงอาจไม่กระทบโดยตรงในระยะสั้น ซึ่งการที่อินโดนีเซียลดภาษีสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนให้เกาหลีใต้ในครั้งนี้ อาจทำให้สินค้าไทยในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเสียประโยชน์ในระยะข้างหน้า โดยปัจจุบันไทยส่งออกไปอินโดนีเซียโดยไม่เสียภาษีมีมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การเปิดเสรี KI-CEPA ในปี 2563 ทำให้สินค้าเกาหลีใต้ตามรายการ SL และ HSL ของความตกลง AKFTA ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสู่อินโดนีเซีย โดยสินค้ากลุ่มนี้ไทยก็ได้สิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษีตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN FTA: AFTA) เช่นกัน รวมมีมูลค่าราว 3,660 ล้านดอลลาร์ฯ (35.7% ของการส่งออกไทยไปอินโดนีเซียที่มีมูลค่า 10,248 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561) สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่อินโดนีเซียลดภาษีแต่ไม่ส่งผลต่อสินค้าไทยมากนัก อาทิ แผ่นเหล็กรีดร้อน/รีดเย็น แผ่นเหล็กชุบ และเรซิ่นสังเคราะห์

แม้ว่าการเปิดตลาดการค้าระหว่างอินโดนีเซียกับเกาหลีใต้จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง ณ ขณะนี้มากนัก แต่ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนหลังจากนี้ไป เพราะการเปิดเสรี KI-CEPT เป็นการประตูการลงทุนครั้งสำคัญให้แก่นักลงทุนเกาหลีอย่างเป็นทางการ อันมีส่วนทำให้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตที่น่าสนใจอีกแห่งในอาเซียน โดยเฉพาะค่ายรถยนต์เกาหลีที่เริ่มเห็นสัญญาณการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ ในระยะเริ่มแรกอาจส่งผลดีให้ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเข้าไปสนับสนุนการผลิตในส่วนที่อินโดนีเซียยังขาด แต่ในระยะต่อไปเมื่อค่ายรถยนต์เกาหลีขยายกำลังการผลิตเต็มที่ ทยอยขยายห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดิม เมื่อถึงเวลานั้นอาจทำให้ไทยสูญเสียบทบาทการเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่สำคัญของอาเซียนไป

         อนึ่ง เกาหลีใต้พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกราว 50% ต่อ GDP ซึ่งการส่งออกของเกาหลีใต้ร่วงลงอย่างต่อเนื่องตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา โดยในเดือน ต.ค.2562 ยังคงหดตัว 10.4% (YoY) ซึ่งทางการเกาหลีใต้พยายามแก้ปัญหานี้มาตั้งแต่สหรัฐฯ และจีนเริ่มสงครามการค้าในปี 2561 โดยเร่งรัดการเจรจาการค้าทวิภาคีกับนานาชาติเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกและขยายโอกาสการลงทุนให้แก่ธุรกิจในประเทศต่างๆ จนสามารถผลักดันให้ออกมาเป็น FTA หลายฉบับได้สำเร็จ กลายเป็นคำถามย้อนกลับมาว่า ประเทศไทยก็พึ่งพาตลาดส่งออกถึงเกือบ 70% ของ GDP ประสบปัญหาเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ แต่แผนงานในการรับมือกับปัญหาการส่งออก การสร้างแต้มต่อทางการค้ากลับยังไม่คืบหน้าเท่าใดนัก ซึ่งหากล่าช้าไปกว่านี้ไทยคงสูญเสียโอกาสทางการค้าไม่เพียงตลาดเก่า แต่ยังอาจรวมถึงตลาดใหม่ๆ ไปอีกมาก



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest