Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มีนาคม 2564

Econ Digest

ทำไมช่วงนี้... บาทอ่อน

คะแนนเฉลี่ย

​      เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างแคบที่ประมาณ 29.85-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 แม้ไทยจะเผชิญกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ อย่างไรก็ดีทิศทางอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มทยอยปรากฏขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และต่อเนื่องมาในเดือนมีนาคม ล่าสุด เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง ที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

      แรงกดดันที่ทำให้เงินบาทเริ่มอ่อนค่าในระยะนี้และอาจเห็นต่อเนื่องข้ามไปในช่วงต้นไตรมาส 2/2564 น่าจะมาจากปัจจัยทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งแรงหนุนในฝั่งของเงินดอลลาร์ฯ และแรงกดดันในฝั่งของเงินบาท ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยแรงหนุนที่สำคัญของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงนี้มาจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

      ขณะที่ในส่วนของปัจจัยเงินบาทนั้น ผลกระทบจากโควิด 19 ที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวส่งผลทำให้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอ่อนแอลงจนเริ่มเข้าสู่สถานะขาดดุลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นภาพที่เห็นไม่บ่อยนักในระยะหลังที่ไทยจะมีสถานะขาดดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดหลายเดือนติดต่อกัน โดยครั้งล่าสุดที่เห็นคือในปี 2556 หรือเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่เงินบาทมีปัจจัยด้านฤดูกาลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลกลับต่างประเทศของบริษัทต่างชาติในไทย กดดันให้อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน

      ดังนั้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระยะใกล้ๆ นี้ โดยคาดการณ์กรอบเงินบาทที่ 31.00-31.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่ปัจจัยติดตามที่อาจจะมีผลต่อทิศทางตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งหลังของปี น่าจะอยู่ที่สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยเฉพาะในกรณีที่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความต่อเนื่อง จนอาจทำให้เฟดต้องสื่อสารกับตลาดเพื่อเตรียมตัวสำหรับการทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทยอยเกิดขึ้นในปี 2565

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest