Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กันยายน 2563

Econ Digest

โทรคมนาคมไทย รุก 5G ตลาดผู้บริโภค

คะแนนเฉลี่ย

หลังการประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2563 ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้เร่งลงทุนโครงข่าย 5G จนครบ 77 จังหวัด โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองที่เป็นพื้นที่ศักยภาพของบริการ 5G เพื่อชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสื่อสาร โดยเมื่อพิจารณาประกอบกับประเด็นเม็ดเงินประมูลคลื่น 5G ที่เฉลี่ยกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อราย น่าจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องเร่งแสวงหาแนวทางสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเปิดให้บริการ 5G เพื่อชดเชยกับเม็ดเงินมหาศาลที่ได้ลงทุนไป ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว การรุกตลาด 5G ภาคองค์กรเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเพิ่มอุปสงค์การใช้บริการ 5G ในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะยังคงไม่เริ่มเปิดให้บริการ 5G อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็น่าจะกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ามาจับตลาดผู้บริโภคเพื่อขยายฐานผู้ใช้ 5G ร่วมด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การรุกตลาดผู้บริโภคเพื่อขยายอุปสงค์ 5G นั้น น่าจะเริ่มจากการมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์ 5G บนบริการที่เป็นที่นิยมและคุ้นเคยของผู้บริโภคอยู่ก่อนหน้า โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวกับความบันเทิงออนไลน์บนมือถือ ซึ่งในปี 2562 ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีรายได้เบื้องต้นเฉลี่ยจากบริการดังกล่าวราว 128 บาทต่อผู้ใช้บริการบันเทิงบนมือถือ เติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 8 ต่อปี จากปี 2560 ที่มีรายได้เฉลี่ยราว 110 บาทต่อผู้ใช้บริการบันเทิงบนมือถือ หลังจากนั้นในระยะข้างหน้า จึงค่อยขยายตลาด 5G เข้าสู่บริการด้าน IoT

ในระยะแรกของการเปิดให้บริการ 5G ในตลาดผู้บริโภค ตลาดบริการบันเทิงออนไลน์บนมือถือนับได้ว่าเป็นตลาดแรกที่ผู้บริโภคน่าจะหันมาใช้บริการบนเทคโนโลยี 5G เพื่อเพิ่มอรรถรสด้านความบันเทิง เนื่องจากปัจจุบันผู้ให้บริการบันเทิงออนไลน์มักยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ของตนให้มีความละเอียดสูง ทำให้ต้องการการสื่อสารที่มีเสถียรภาพและรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่ต้องการทั้งความละเอียด และการแข่งขันกันระหว่างผู้เล่นบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเทคโนโลยี 5G สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดีกว่าเทคโนโลยี 4G ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้เล่นเกมออนไลน์สูงถึงกว่า 27.8 ล้านราย และมีมูลค่าตลาดเกมออนไลน์บนมือถืออยู่ที่ราว 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการต่อยอดสร้างช่องทางรายได้แห่งใหม่

ตลาดผู้บริโภคที่นิยมรับชมวีดีโอสตรีมมิ่งบนมือถือ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมรับชมคอนเทนต์ที่มีความละเอียดสูง(Ultra HD) ซึ่งปัจจุบันมักประสบปัญหาการรับชมคอนเทนต์ที่สะดุดไม่ไหลลื่นหากต้องรับชมในพื้นที่สาธารณะที่มีการใช้โครงข่ายสื่อสารหนาแน่น น่าจะเป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มที่หันมาใช้บริการ 5G เพื่อตอบโจทย์ประเด็นปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ การรุกคืบของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยบางรายสู่การเปิดให้บริการรับชมคอนเทนต์เสมือนจริง (VR Content) ผ่านโครงข่าย 5G ก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ผู้ประกอบการพยายามจะเปิดมิติใหม่เพื่อสร้างความแตกต่างในการรับชมคอนเทนต์เมื่อเทียบกับบริการเดิมในยุค 4G ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้จากการกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการ 5G เพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถมีรายได้เพิ่มเติมจากการจำหน่ายแว่นตา VR และการเก็บค่าบริการรับชม VR Content รายเดือนได้อีกด้วย

4-5 ปีข้างหน้า บริการ 5G น่าจะเริ่มขยายการใช้งานสู่ตลาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี IoT มากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในช่วงพัฒนาเทคโนโลยีและบริการที่เกี่ยวเนื่องในประเทศพัฒนาแล้ว โดยสำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาบ้าง แต่ก็มักเป็นอุปกรณ์ที่มีเพียงฟังก์ชั่นการทำงานพื้นฐานที่เกี่ยวกับการควบคุมอุปกรณ์ผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ทำให้ยังคงไม่มีความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยี 5G อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า เมื่อเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมได้รับการพัฒนาและต้องการการสื่อสารที่เสถียรระหว่างอุปกรณ์จำนวนมาก เทคโนโลยี 5G น่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาด IoT ดังกล่าว และการรุกตลาด IoT ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในอนาคตน่าจะมีส่วนสร้างกระแสรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอย่างยั่งยืนขึ้น

ทั้งนี้ ในการเริ่มขยายบริการ 5G สู่ตลาดผู้บริโภค ผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะเผชิญกับโจทย์สำคัญบางประการ ทั้งการกำหนดราคาค่าบริการ 5G ที่ต้องไม่สูงจนเกินไปท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแรงลงตามภาวะเศรษฐกิจ และการวางตลาดสมาร์ทโฟน 5G ที่มีระดับราคาเอื้อมถึงโดยผู้บริโภค โดยเฉพาะระดับราคาที่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ทั้งนี้ การขยายตัวของบริการ 5G ในระยะยาว อาจมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบโทรคมนาคมจากการเน้นทำรายได้จากบริการสื่อสารดาต้า ไปสู่การทำรายได้จากบริการบน 5G ที่มอบให้แก่ผู้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจำเป็นต้องพัฒนาบริการ 5G ที่หลากหลายเพิ่มเติม พร้อมสร้างความแตกต่างจากบริการในยุค 4G โดยเน้นคุณสมบัติด้านความเร็วและการตอบสนองที่ฉับไวซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดผู้ใช้บริการในอนาคต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest