Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 กันยายน 2564

Econ Digest

ความต้องการ...ระดมทุนเพิ่ม หนุนผลตอบแทนตราสารหนี้

คะแนนเฉลี่ย

ทิศทางผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยกลับมาไต่ระดับเพิ่มขึ้นชัดเจนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ธปท.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำทั้งในปีนี้และคงรวมถึงปีหน้า ในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอน  โดยการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย มาจากการปรับขึ้นของผลตอบแทน​พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รับข่าวสัญญาณการเตรียมถอยออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 65 และข่าวการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี โดยคงต้องยอมรับว่า ทางการไทยจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 65 เพื่อช่วยประคองเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการระดมทุนของภาครัฐในระดับสูงต่อเนื่อง อาจมีผลต่อเนื่องไปยังตลาดพันธบัตรและประเด็นสภาพคล่องด้วยเช่นกัน

ในส่วนของภาครัฐ มีแนวโน้มออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 64  เพื่อระดมทุนมาใช้สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบและประคองเศรษฐกิจในภาพรวม  ซึ่งภาพการเตรียมออกพันธบัตรรัฐบาล การเตรียมแผนการบริหารหนี้สาธารณะสำหรับปีงบประมาณ 65 และการขยายเพดานหนี้ที่เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกัน ได้หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยทยอยปรับตัวสูงขึ้น  สำหรับในระยะข้างหน้า การระดมทุน/ก่อหนี้ของภาครัฐและเอกชนจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในปี 65 ผนวกกับดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีโอกาสติดลบมีผลในการระบายสภาพคล่องออกเพิ่มขึ้นจากในปีนี้  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าความต้องการใช้สภาพคล่องของภาครัฐและเอกชนในปียังคงอยู่ในระดับสูง  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการระดมทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจังหวะการลดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยคาดว่าในปี 65 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ ตามความต้องการระดมทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการจับสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ และท่าทีเฟดที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลัง QE Tapering สิ้นสุด ซึ่งสำหรับตัวแปรในประเทศ คงเน้นติดตาม 1) รูปแบบการกู้เงินของภาครัฐผ่านเครื่องมือต่างๆ 2) การจัดสรรจังหวะเวลาการออกตราสารหนี้ ขณะที่เชื่อว่า ธปท. ยังมีเครื่องมือบริหารสภาพคล่อง และธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องสะสมในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งน่าจะช่วยให้อัตราผลตอบแทนไม่ขยับขึ้นเร็วและแรงเกินไปจนกระทบต้นทุนของภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับภาคธุรกิจ คงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องแผนการระดมสภาพคล่อง ช่องทางการกู้เงิน และช่วงเวลาของการออกหุ้นกู้ เพื่อให้สามารถระดมสภาพคล่องได้สำเร็จในวงเงินที่ต้องการ ในจังหวะที่ต้นทุนการออกหุ้นกู้กำลังจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest