Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 ตุลาคม 2564

Econ Digest

การค้าผ่านแดน/ชายแดนไทย ตลาดจีนตอนใต้แซงแชมป์เก่ามาเลย์

คะแนนเฉลี่ย


การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 64 มีมูลค่า 682,184 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 38% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า  นำโดยตลาดการค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่สามอย่างสิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนามและอื่นๆ ซึ่งนับวันยิ่งมีความน่าสนใจด้านกำลังซื้อและความต้องการสินค้าที่หลากหลาย  โดยขยายตัวสูงถึง 61.1% แตกต่างจากตลาดการค้าชายแดนกับประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่างมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ขยายตัวเพียง 22.2% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกหลังจากนี้น่าจะเติบโตได้ด้วยแรงส่งจากส่งออกไปยังตลาดประเทศที่สามเป็นหลัก    โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนตอนใต้ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 จากการขนส่งผลไม้ทางถนนไปยังจีนได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าผลไม้ ทั้งมาตรฐาน GAP  และ GMP อย่างจริงจัง เนื่องจากทางการจีนคุมเข้มในการตรวจสอบผลไม้บริเวณด่านชายแดน ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยตลอดปี 2564 น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า  28% แตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 980,000 ล้านบาท หรืออาจขยายตัวถึง  33% แตะมูลค่า 1,020,000 ล้านบาท หากสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้นเป็นลำดับ กำลังซื้อของคู่ค้าฟื้นตัวเร่งขึ้น และการส่งออกผลไม้ไปจีนในช่วงที่เหลือของปีเป็นไปอย่างราบรื่น

ในระยะข้างหน้า  ตลาดจีนตอนใต้จะยิ่งทวีความสำคัญในฐานะตลาดส่งออกชายแดนอันดับ 1 ของไทย สะท้อนจากมูลค่าส่งออกที่แซงหน้ามาเลเซียได้เป็นครั้งแรกในปี 64 ซึ่งการเปิดดำเนินการของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-สปป.ลาวในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ จะยิ่งยกระดับการขนส่งให้สะดวกขึ้น และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปยังมณฑลหยุนหนาน จากเดิมที่มักจะใช้เส้นทางสาย R3A เป็นหลัก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่การส่งออกไปมณฑลหยุนหนานจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกไปยังจีนตอนใต้ให้เติบโตสูงขึ้นในระยะข้างหน้า จากปกติการเติบโตหลักมาจากการส่งออกไปยังปลายทางเขตปกครองตนเองกว่างซีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง  82% ของการส่งออกชายแดนไทยไปยังไปจีนตอนใต้​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest