Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2564

Econ Digest

เมื่ออังกฤษเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะเกิดอะไร?

คะแนนเฉลี่ย


CPTPP กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เนื่องจากใกล้วันประชุมประจำปีของชาติสมาชิกที่จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งการพิจารณารับสมาชิกใหม่เป็นหนึ่งในวาระสำคัญ โดยล่าสุดอยู่ระหว่างพิจารณารับสหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในลำดับที่ 12 หลังจากที่อังกฤษได้ยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกในเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ว่าในปีหน้าอังกฤษจะเป็นสมาชิกใหม่อย่างสมบูรณ์ 
อังกฤษได้อะไรจากการร่วมเป็นสมาชิก CPTPP? เมื่ออังกฤษเป็นสมาชิกหากเทียบบทบาททางเศรษฐกิจก็นับว่าอังกฤษเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทในการตัดสินใจทิศทางของชาติสมาชิกเพราะเงื่อนไขของการเข้าร่วมคือต้องปฏิบัติตามแนวทางของสมาชิกเดิมที่ได้เริ่มไว้ และต้องได้รับความเห็นพ้องจากสมาชิกทั้งหมด ดังนั้น ผลประโยชน์หลักของอังกฤษในเบื้องต้นจึงคงอยู่ในภาคการค้าสินค้าและบริการเป็นหลัก 1) อังกฤษได้ผลประโยชน์ทางการค้าเพิ่มพูนมาจากประเทศที่ไม่มี FTA นั่งก็มีเพียงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย บรูไนรวมแล้วคิดเป็น 2% ของการส่งออกของอังกฤษเท่านั้น แต่ก็เป็นโอกาสขยายตลาดในภาพรวมได้อีกจากปัจจุบันอังกฤษพึ่งพาการส่งออกไป CPTPP ทั้ง 11 ประเทศคิดเป็น 8% ของการส่งออกทั้งหมดของอังกฤษ 2) โอกาสขยายตลาดด้านบริการจากการเปิดตลาดของสมาชิกที่มากกว่าความตกลงที่อังกฤษมีอยู่เดิมกับแต่ละประเทศ อังกฤษน่าจะได้ประโยชน์ด้านนี้ค่อนข้างมากเนื่องจากในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอังกฤษที่ไป CPTPP มี 50% เป็นการส่งออกภาคบริการ
นอกจากนี้ การที่อังกฤษเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ยิ่งทำให้ CPTPP ผนึกห่วงโซ่การผลิตของสองฝากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าไว้ด้วยกัน โดยในภูมิภาคอเมริกามีเม็กซิโกเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ฝั่งเอเชียก็มีทั้งเวียดนาม มาเลเซียและญี่ปุ่นที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกันอยู่ ขณะที่ออสเตรเลียเป็นแหล่งผลิตแร่หายากเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากจีน) เมื่อผนวกอังกฤษที่เป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศในยุโรปอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ CPTPP เป็นฐานการผลิตที่สามารถจัดสรรปัจจัยการผลิตในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ที่มีห่วงโซ่การผลิตยาวย่อมได้ประโยชน์จากกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin: ROO) ที่เป็นหนึ่งเดียวกันของทั้ง 11 ประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางการปรับฐานการผลิตครั้งใหญ่ของโลกหลังจากนี้
อย่างไรก็ดี ด้วยรูปแบบของ CPTPP ที่เป็นกรอบการค้าพหุภาพคีขนาดใหญ่และมีมาตรฐานสูงกว่าความตกลงการค้าที่เคยมีมา แม้อังกฤษจะมีมาตรฐานด้านกฎระเบียบที่สูงอยู่แล้วจากการเคยเป็นสมาชิก EU แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องต่อรองกับชาติสมาชิก อาทิ ประเด็นด้านการเคลื่อนย้ายข้อมูลอย่างเสรี (Data flow) และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data privacy) ซึ่งอังกฤษมีระดับการคุ้มครองข้อมูลสูงที่สุดตามมาตรฐาน GDPR (General Data Protection Regulation) ของสหภาพยุโรป โดยประเทศญี่ปุ่น แคนาดาและนิวซีแลนด์ก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่การเข้าร่วม CPTPP มีข้อกำหนดการคุ้มครองข้อมูลที่หย่อนกว่าอังกฤษ ในประเด็นนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ประเด็นด้านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ที่นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐได้หากได้รับความเสียหายจากการลงทุน โดย CPTPP มีรายละเอียดและข้อยกเว้นให้แก่ชาติสมาชิก ซึ่งทางอังกฤษคงต้องเจรจายอมรับ ISDI ของแต่ละประเทศ เพราะในเบื้องต้นอังกฤษมีเพียงข้อตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (Bilateral Investment Treaties: BITs) กับชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม 
ทั้งนี้ CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership เป็นกรอบความตกลงที่มีมาตรฐานในการเปิดตลาดระหว่างกันที่สูง และยังครอบคลุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบในด้านอื่นๆ ที่สมาชิกได้กำหนดไว้ ในปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ จากฝั่งเอเชีย (มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) และฝั่งทวีปอเมริกา (แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู) รวมแล้วมีประชากร 500 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 13% ของโลก โดยมีการลงนามความตกลงตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561ในปีถัดมาก็เริ่มบังคับใช้ความตกลง ซึ่ง CPTPP ยังคงเปิดรับสมาชิกใหม่ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติสมาชิกเสียก่อน โดยประเทศที่สนใจเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมถึงไทยเองก็อยู่ระหว่างรอ ครม.พิจารณาผลกระทบรอบด้านของ CPTPP


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest