Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มิถุนายน 2564

Econ Digest

Cloud computing หนุน Enterprise HDD ไทย...ไปต่อได้ ในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

คะแนนเฉลี่ย


แม้ในปี 2563  ยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กทั่วโลกจะขยายตัวสูงถึง 44% จากปี 2562 ด้วยปัจจัยหนุนจากกระแสการทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 แต่ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิต HDD (Hard Disk Drive) รายใหญ่ของโลกกลับไม่ได้รับอานิสงส์     เนื่องจากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กส่วนใหญ่หันมาใช้ SSD   (Solid State Drive) ซึ่งที่มีน้ำหนักเบาและมีราคาต่อหน่วยที่ถูกลงแทน  ทำให้คาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออก Consumer HDD ของไทยในปี 2564 น่าหดตัว  11-15% และ 14-16%  ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออก Enterprise HDD จะสามารถขยายตัวได้ 2-5%  ตามความต้องการลงทุนใน Cloud computing และราคาต่อหน่วยที่ปรับขึ้นตามปริมาณความจุที่สูงขึ้น โดยจะเป็นตลาดที่ช่วยประคองภาพรวมการส่งออก HDD ของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการส่งออก HDD ของไทยในปี 2564 จะอยู่ที่ราว 158–164 ล้านชิ้น หรือหดตัว  6.9–10.5% จากปี 2563 และมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 10,138–10,407 ล้านดอลลาร์ฯ หรือหดตัว 5.8-8.3%  โดยมีความต้องการ Enterprise HDD เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งในส่วนของการส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค รวมถึงการเพิ่มความคล่องตัวให้กับกระบวนการทำงานขององค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคโควิด19 ซึ่งจะเร่งให้ความต้องการลงทุนใน Cloud computing เพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเกมส์ (Cloud gaming) และอุตสาหกรรมบริการคอนเทนต์

  สำหรับในระยะข้างหน้า ทิศทางการส่งออก Enterprise HDD ของไทยน่าจะขึ้นอยู่กับสองตัวแปรหลักคือ 1) การขยายตัวของปริมาณการรับส่งข้อมูลทั่วโลก นำมาซึ่งความต้องการอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับองค์กร โดยคาดว่าเทคโนโลยี Internet of Things (IoTs) จะเป็นแรงขับเคลื่อนปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูล 2) การพัฒนาประสิทธิภาพของ Enterprise HDD ทั้งในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์หรือโซลูชั่นใหม่ๆ  ให้ตอบโจทย์การใช้งาน จนสร้างความคุ้มทุนของการใช้ Enterprise HDD ให้ยังคงสูงกว่า Enterprise SSD  ในขณะที่การดึงดูดการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต SSD ที่ตอบโจทย์การใช้งานแบบเรียลไทม์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของไทยในระยะยาว


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest