Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 มกราคม 2564

Econ Digest

เจอ จ่าย จบ จริงหรือไม่?

คะแนนเฉลี่ย
เชื่อว่า นอกจากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ เจล/สเปร์ยแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า จะเป็นสิ่งจำเป็นในยุคโควิด-19 ระบาดแล้ว ประกันโควิด-19 ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ 
สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนทำการซื้อประกันโควิด-19 คือ ตรวจสอบว่าในบรรดากรมธรรม์ประเภทต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในมือตอนนี้ มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่ครอบคลุมมาถึงโรคโควิด-19 แล้วหรือไม่ เพื่อไม่ให้จ่ายเกิน โดยได้ความคุ้มครองเท่าเดิม/ซ้ำซ้อน โดยบางท่านที่มีประกันชีวิตอาจซื้อสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ หรือบางท่านที่วงเงินการซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพื่อเป็นค่าลดหย่อนภาษียังไม่เต็มเพดานที่ 100,000 บาท และวางแผนจะซื้อเพิ่มในปีนี้ ก็อาจพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพที่ให้ความครอบคลุมไปถึงโรคโควิด-19 แทนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 เป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากสิทธิที่ประกันชีวิต+สุขภาพจ่าย 
โดยทั่วไป ผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 ของแต่ละบริษัทที่เสนอขาย มีรูปแบบความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่ผู้ซื้อประกันจะได้รับที่ค่อนข้างคล้ายกัน รูปแบบที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. ประเภทจ่ายเป็นเงินก้อนเมื่อเจอเชื้อ ซึ่งวงเงินก็จะอยู่ในช่วงประมาณ 10,000-200,000 บาท ซึ่งเราอาจถือว่าเป็นเงินชดเชยนำมาใช้ได้หลายกรณี เช่น กรณีต้องหยุดงานไม่มีรายได้ และ 2. ประเภทที่ให้ความคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในเรื่องค่ารักษาพยาบาลสูงสุด การชดเชยรายได้รายวัน หรือวงเงินผลประโยชน์สูงสุดในกรณีที่เกิดภาวะโคม่า สมองตาย และระบบประสาทล้มเหลว หรือ การเจ็บป่วยระยะสุดท้ายจากโควิด-19 ตามการวินิจฉัยของแพทย์ และเงื่อนไขในการคุ้มครองอุบัติเหตุ 
นอกจากจะทำการเปรียบเทียบผลประโยชน์และการคุ้มครองที่ได้รับแล้ว ก่อนจะตัดสินใจซื้อจะต้องทำการศึกษาเงื่อนไข-ข้อยกเว้นของการรับประกันภัยด้วยเช่นกัน เช่น อายุรับประกันสูงสุด จำนวนฉบับกรมธรรม์ที่สามารถซื้อได้ ต่อ 1 ราย การเว้นการรับประกันกรณีที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง อาทิ  โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต  โรคปอด หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง การไม่รับคุ้มครองสำหรับบางอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (อาทิ แพทย์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ หรือ นักบิน) หรือสงวนการพิจารณาเป็นรายกรณีสำหรับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ หรือจังหวัดที่มีความเสี่ยง และ/หรือเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศล็อกดาวน์ สำหรับหลายๆ ท่านที่ยังไม่เคยมีประกันโควิด ทุกบริษัทจะมีการกำหนดระยะเวลาไม่คุ้มครอง (Waiting Period) ไว้ประมาณ 14 วันนับจากที่กรมธรรม์มีบังคับเป็นครั้งแรก ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็น ก็ร่วมกันล็อกดาวน์ตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อในระยะนี้ 
คงต้องติดตามว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะกินเวลายืดเยื้อมากน้อยเพียงใด และจะทำให้จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ในปีนี้ ทุบสถิติเดิมที่ทำไว้ในปีที่แล้วที่มียอดรวมกรมธรรม์สูงถึง 7.5 ล้านฉบับได้หรือไม่...













                                                                                                                                        ​    ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest