Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มิถุนายน 2564

Econ Digest

Cryptocurrency ในมุมมองธนาคารกลาง อีกหนึ่งโจทย์ท้าทายการเติบโตของตลาดคริปโทฯ

คะแนนเฉลี่ย


ณ ตอนนี้ คงไม่ปฏิเสธว่า ปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) โดยเฉพาะเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปและนักลงทุนกันมากขึ้น โดยมีทั้งฝั่งข่าวบวก และข่าวที่เป็นข้อสังเกต

ฝั่งข่าวบวก สะท้อนการยอมรับของคริปโทเคอร์เรนซีในฐานะเป็นสิ​นทรัพย์ที่กระจายการลงทุน ดังจะเห็นได้จากการที่มีนักลงทุนรายใหญ่ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่รับซื้อหรือขายสกุลเงินดิจิทัลในตลาด ส่วนฝั่งข่าวที่เป็นข้อสังเกต คือ การที่ทางการหลายชาติไม่สนับสนุนการใช้งาน การซื้อขาย และการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี เช่น รัฐบาลจีนได้ออกคำสั่งห้ามสถาบันการเงินและบริษัทที่ให้บริการชำระเงินทำธุรกรรมเกี่ยวกับเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเองที่เคยได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินดิจิทัลประเภท Stablecoin ที่อ้างอิงหรือเทียบเท่าสกุลเงินบาทว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยผิดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตราที่ 9 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดจำหน่าย ใช้ หรือนำออกซึ่งวัตถุ หรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตราที่เป็นเงินบาท (เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี) เป็นต้น





จากกระแสการไม่สนับสนุนของทางการในหลายๆ ประเทศตามที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนความกังวลหลายประการ คือ

  • ความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนหรือนักลงทุน จากการซื้อขายด้วยความไม่เข้าใจ ซึ่งในเฉพาะหน้า ธนาคารกลางต่างๆ คงจะกังวลว่า ประชาชนจะเกาะกระแสลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีเพื่อหวังผลตอบแทน ทั้งๆ ที่อาจจะไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรองรับอย่างเพียงพอ ทำให้มีลักษณะไม่ต่างไปจากแชร์ลูกโซ่ ซึ่งในที่สุดแล้ว มักจะจบลงด้วยความสูญเสีย โดยคริปโทเคอร์เรนซีในตลาด ณ ปัจจุบัน ไม่ได้ออกโดยธนาคารกลาง ทำให้ธนาคารกลางไม่มีอำนาจควบคุมและตรวจสอบ ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนที่ถือคริปโทเคอร์เรนซีไม่ได้รับความคุ้มครองและมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับความเสียหายจากการลงทุน เช่น ความเสียหายจากการโดนโกงหรือโดนแฮ็กระบบ ทำให้แพลตฟอร์มและเหรียญในบัญชีหายไป หรือไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีออกมาได้ รวมถึงความเสียหายจากราคาที่ผันผวนรุนแรง เป็นต้น

ในประเด็นดังกล่าว หากมองอีกมุมหนึ่ง น่าจะสะท้อนถึงระดับความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคริปโทเคอร์เรนซีของนักลงทุน เพราะต้องยอมรับว่า คริปโทเคอร์เรนซียังเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ นักลงทุนที่จะอยู่รอดในตลาดอาจจำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ ยังต้องเป็นนักลงทุนที่จะสามารถยอมรับความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งนักลงทุนที่มีคุณสมบัติเหล่านั้นอาจยังมีจำนวนไม่มากนัก จึงย่อมทำให้ทางการเป็นกังวลต่อความเสี่ยงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ ดังกล่าว

  • ความกังวลของทางการต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเลือกที่จะยอมรับการมีอยู่ของคริปโทเคอร์เรนซี โดยนำมาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมถึงทำธุรกรรมทางการเงินแทนสกุลเงินท้องถิ่น นอกเหนือจากการลงทุน ก็จะทำให้ธนาคารกลางในแต่ละประเทศไม่สามารถใช้กลไกที่มีอยู่ในการดูแลและตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยเฉพาะการฟอกเงิน ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการลดทอนความสามารถในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ อันกระทบต่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน

นอกจากนี้ ภายใต้กรณีที่ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีเติบโตอย่างรวดเร็ว บนฐานที่ผู้ลงทุนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่มากพอนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากระทบ ก็อาจเผชิญแรงเทขายอย่างรวดเร็ว คล้ายเหตุการณ์ฟองสบู่สินทรัพย์แตก อันจะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ จนเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของตลาดการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องได้





ประเด็นต่างๆ ข้างต้น จึงเป็นโจทย์ของการเติบโตตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในอนาคต ขณะเดียวกัน ก็เป็นความท้าทายของทางการที่จะต้องหาแนวทางดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากกระแสการใช้และการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีบนโลกดิจิทัล จะยังคงปรากฎอยู่ ตราบใดที่การกำกับดูแลของแต่ละประเทศในโลกมีระดับต่างกัน และยังไม่มีระบบเทคโนโลยีใดที่มีคุณสมบัติหรือจุดขายที่โดดเด่นไปกว่าบล็อกเชนที่หนุนระบบการเงินลักษณะกระจายศูนย์ (Decentralized) ชูจุดขายเหนือระบบการเงินดั้งเดิมในแง่ความรวดเร็วและต้นทุนการทำธุรกรรมที่ถูกกว่า โดยเฉพาะการทำธุรกรรมข้ามประเทศ ระบบ หรือ Network

โดยสิ่งที่คาดหวังได้แน่นอนหลังจากนี้คือ ธนาคารกลางชาติต่างๆ คงอาศัยจุดเด่นของบล็อกเช่นดังกล่าวในการต่อยอดนวัตกรรมและเร่งผลักดันการออกสกุลเงินดิจิทัล (Central Bank Digital Currency: CBDC) หรือแม้แต่การที่สถาบันการเงินดั้งเดิมคงเร่งพัฒนานวัตกรรมการสร้างแพลตฟอร์มระบบให้บริการทางการเงินที่ปราศจากตัวกลางอย่าง DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งน่าจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าการให้บริการทางการเงินและการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่อาจยังใม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยปัจจุบันทางการในหลายๆ ประเทศ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีเพื่อรองรับการออกและการใช้งานสกุเงินดิจิทัล CBDC และในหลายๆ ประเทศก็อยู่ในขั้นตอนการทดสอบการใช้งานในภาคประชาชนแล้ว ซึ่งในระยะข้างหน้า เราคงจะเห็นนวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์บริการที่คริปโทเคอร์เรนซีทำได้ เช่น การโอนเงินข้ามประเทศที่สะดวกและรวดเร็วเพียงกดปุ่มมือถือ รวมถึงบริการใหม่อื่นๆ ที่จะตามมา ท้ายที่สุดแล้ว คงต้องรอพิสูจน์ว่าเส้นทางไหนจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเร็วกว่ากัน...​




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest