Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 พฤศจิกายน 2564

Econ Digest

KResearch : วิเคราะห์ข่าวเช้าเศรษฐกิจ (11 พฤศจิกายน 2564)

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดหุ้นอาจถูกถ่วงลงจากความกังวลเงินเฟ้อ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มสูงสุดในรอบ 30 ปี ดันทองคำและบิทคอยน์พุ่ง

- ตลาดหุ้นเอเชียปรับลดลงถ้วนหน้า (ก่อนการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ) รับข่าวดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคของจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น +13.5% YoY (สูงสุดในรอบ 26 ปี) และ +1.5% YoY ตามลำดับ ซึ่งมีผลลบต่อมาร์จิ้นของผู้ประกอบการ อีกทั้งเพิ่มความท้าทายในการประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่เผชิญปัญหาอยู่แล้วจากปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า ปัญหาโควิดระลอกใหม่ รวมถึงปัญหาการชำระหนี้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ ทางการจีนเตรียมผ่อนคลายให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯ สามารถขายบอนด์ในตลาด Interbank เพื่อระดมสภาพคล่องได้
- ตลาดหุ้นไทยปิดลบท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง ขณะที่ผลประกอบการในหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ที่ออกมาไม่ดีจากผลกระทบของการกำหนดเพดานดอกเบี้ยมีผลฉุดดัชนีโดยรวม
- ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามแรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ส่วนดัชนีหุ้นหลักทั้ง 3 ตัวของฝั่งสหรัฐฯ ร่วงลงถ้วนหน้า หลังดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้น +6.2% YoY สูงสุดในรอบ 30 ปี แม้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์จะลดลงต่อ ทั้งนี้ ปัจจัยเงินเฟ้อดังกล่าวทำให้ตลาดมองว่าเฟดอาจต้องเร่งคุมเข้มเชิงนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อ โดยตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงจังหวะที่เฟดอาจต้องเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. 2565 เป็นอย่างเร็ว และอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมๆ ประมาณ 2 ครั้งในปีหน้า
- ปัจจัยเงินเฟ้อสูงดังกล่าว ยังมีผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 16 เดือน ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับขึ้นค่อนข้างแรง เช่นเดียวกับราคาทองคำที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือน และบิทคอยน์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
- ส่วน กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/2564 ขณะที่มองว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 0.7% และปีหน้าที่ 3.9% ตามแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก แม้ว่าการท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวตามปกติก็ตาม ทั้งนี้ KResearch มองว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ (22 ธ.ค.) และปี 2565 เพื่อประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงอยู่
- ปัจจัยติดตามวันนี้ ได้แก่ การตอบรับของตลาดฝั่งเอเชียต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูงกว่าคาด


 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest