Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กันยายน 2564

Econ Digest

ทำไม? ผิดนัดชำระหนี้ในจีนเพิ่ม แต่ยังไม่กระทบเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย


มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนหลังวิกฤติการเงินโลกปี 2551 แม้จะทำให้เศรษฐกิจจีนโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6% ต่อปีในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็สร้างปัญหาหนี้สินภาคธุรกิจ ที่เติบโตก้าวกระโดดจาก 94% ต่อจีดีพี ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 161% ต่อจีดีพี ในปี 2563 ซึ่งปัญหาหนี้ของจีนกลับมาสร้างความกังวลอีกครั้ง เมื่อมีข่าวการผิดนัดชำระตราสารหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดเม็ดเงินผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นความเสี่ยงเฉพาะรายบริษัท ที่จะไม่ลุกลามไปสู่ปัญหาความเสี่ยงเชิงระบบ เนื่องด้วย 1) ฐานะทางการเงินและเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์จีนยังคงแข็งแกร่ง อัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงจากระดับสูงสุดของปีที่แล้วที่ 1.96% ในเดือนก.ย. 2563 มาอยู่ที่ 1.75% ในเดือนมิ.ย. 2564 ขณะที่อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนก็แข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 14.48% ณ เดือนมิ.ย. 2564 เทียบกับ 14.21% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน  2) ทางการจีนสามารถจัดการบริหารจังหวะและมูลค่าของการรับรู้ NPL ได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะกระทบตลาดเป็นวงกว้าง 3) ทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจของจีนในอนาคตยังมีแนวโน้มที่ดี แต่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับขึ้น อาจทำให้การส่งออกของจีนโตชะลอลงในอนาคต อย่างไรก็ดี จีนได้เตรียมพร้อมในการลดการพึ่งพาการส่งออกและหันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศ และให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเร่งพัฒนา R&D เพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ และการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในยุคต่อไป 

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มในอัตราเร่งและฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก หากจีนไม่สามารถควบคุมได้ อาจเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ยังคั่งค้าง และก่อตัวลุกลามเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินได้ 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest