Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มิถุนายน 2563

Econ Digest

สภาวะ New Normal ทำตลาดแข่งขัน...รุนแรง คาด ปี 63 E-Commerce โตแต่ชะลอ 8-10%

คะแนนเฉลี่ย
​ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19   ทำให้ผู้บริโภคเกิดการปรับตัวมาซื้อสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้นในช่วงที่มีการกักตัวหรืองานอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการค้าปลีกต่างก็ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อหาช่องทางสร้างรายได้  ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของการออกไปใช้จ่ายนอกบ้านและความกังวลในเรื่องของสุขภาพ ส่งผลให้ตลาดค้าปลีกออนไลน์มีการขยายตัวสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงและยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ E-Market place ต่างชาติ ซึ่งเน้นจำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็น เช่น สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ไอที ของใช้ในครัวเรือน ต้องเผชิญความท้าทายและแรงกดดันรอบด้าน ทั้งจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแรงและไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มสินค้า Non-food กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสินค้าเฉพาะที่มีเว็บไซต์หรือแบรนด์ของตนเอง อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับกลุ่ม Modern trade และ Social commerce ที่โหมเจาะตลาดสินค้ากลุ่มอาหารและอุปโภคบริโภค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หลังวิกฤตโควิด-19 บทบาทของ E-Market place ต่างชาติ ในตลาดรวมของ E-Commerce ไทยน่าจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีความได้เปรียบและมีบทบาทมาก ในระยะข้างหน้าต้องเผชิญการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงจากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น และยังต้องทำการอัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มของตนเอง จึงคาดว่าผลประกอบการจะยังคงขาดทุนต่อเนื่อง 30-40% ต่อปี และถือเป็นการขาดทุนมาโดยตลอดเฉลี่ย 46% ต่อปี นับตั้งแต่ปีที่ผู้ประกอบการ E-Market place กลุ่มดังกล่าวเริ่มเข้ามาลงทุนแพลตฟอร์มและทำตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทย

แม้ว่าโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดค้าปลีกออนไลน์ให้โตขึ้นจากการเข้าสู่สภาวะ New normal แต่อีกส่วนหนึ่งก็กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัว จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและประหยัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์ B2C E-Commerce(เฉพาะสินค้า) ในปี 2563  จะยังคงขยายตัวราว 8-10% แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัวราว  20% โดยกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน น่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างกลุ่มแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแรง และคงใช้เวลาในการฟื้นตัวที่นานกว่า


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest