Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กุมภาพันธ์ 2565

Econ Digest

KResearch : วิเคราะห์ข่าวเช้าเศรษฐกิจ (14 กุมภาพันธ์ 2565)

คะแนนเฉลี่ย

​ปัจจัยสัปดาห์นี้ ยังติดตามวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และแนวโน้มคุมเข้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กันต่อเนื่อง   
- ตลาดหุ้นเอเชียและยุโรปปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากปัจจัยเฉพาะของแต่ละตลาด เช่น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งหนุนหุ้นญี่ปุ่นและยุโรป ขณะที่ตลาดหุ้นจีนได้รับแรงซื้ออย่างแข็งแกร่งหลังจากที่ตลาดกลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังหยุดในช่วงตรุษจีน โดยมีปัจจัยบวกจากความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยมีแรงซื้อสุทธิอย่างมากจากนลท.ต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคารและ ICT
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลดลงรายสัปดาห์จากแรงกดดันเรื่องวิกฤตยูเครน และการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาพุ่งขึ้นมากกว่าตลาดคาด (เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนม.ค. 65 พุ่งขึ้น 7.5% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบ 40 ปี) นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีแรกด้วยเช่นกัน  
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับขึ้น บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก.ค. 2562 หรือสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ช่วงต่างระหว่างยีลด์อายุ 2 ปีและ 10 ปี แคบลง (Flattening Yield Curve) ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดพันธบัตรได้รับรู้ข่าวการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปค่อนข้างมาก
- ดอลลาร์ฯ แข็งค่า จากเรื่องวิกฤตยูเครน-รัสเซียและโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ขณะที่เงินบาทแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้าโดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น และหุ้นไทย
- ด้านราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันยังบวกได้ต่อเนื่องเช่นกัน WTI และ Brent ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี จากปัจจัยความไม่สมดุลของภาวะอุปสงค์และอุปทานน้ำมัน และสถานการณ์ตึงเครียดของยูเครน
- ประเด็นสำคัญของไทยในสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการประชุม กนง. ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดการณ์ที่ 0.50% และมีมุมมองว่าเงินเฟ้อจะสามารถชะลอลงได้ในครึ่งปีหลัง โดยค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปีจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
- สัปดาห์นี้ ประเด็นติดตามอยู่ที่ 1) การประชุมครม. เกี่ยวกับมาตรการดูแลราคาพลังงาน 2) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ Fed 3) ตัวเลขเงินเฟ้อของจีน 4) วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และ 5)  สถานการณ์โควิด-19

 
 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest