Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กุมภาพันธ์ 2565

Econ Digest

จับสัญญาณ...เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ส่องจังหวะดอกเบี้ยขาขึ้น?

คะแนนเฉลี่ย

         ผลการประชุมกนง. ล่าสุดเมื่อ 9 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนว่า แม้เงินเฟ้อไทยอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายในระยะนี้ แต่กนง. ก็จะยังคงให้น้ำหนักกับโจทย์เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งกว่าที่เศรษฐกิจจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้นั้น น่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ระดับ 0.50% ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2565 อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและดอกเบี้ยของไทย ก็คือ ทิศทางราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลก ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดของยูเครน รวมไปถึงแรงกดดันด้านต้นทุนอื่นๆ ของผู้ประกอบการที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

         สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น คงต้องรอสัญญาณจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ขยับก่อน โดยหากสถาบันการเงินจะมีการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไป เช่น อัตราดอกเบี้ย MLR MRR และ MOR ก็จะต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป อาทิ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือน เงินฝาก 6 เดือน และเงินฝาก 1ปี ไปพร้อมกันด้วยเช่นกัน โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทั้งตัวแปรทางเศรษฐกิจ โครงสร้างของพอร์ตสินเชื่อ-เงินฝาก และความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างระมัดระวัง

         อย่างไรก็ดี ในวัฏจักรการขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายไทยในอดีต พบว่า ช่วงจังหวะที่ดอกเบี้ยนโยบายใกล้จะปรับขึ้นอาจเห็นอัตราดอกเบี้ยบางตัวเริ่มขยับก่อน ตามโครงสร้างพอร์ตเงินฝาก-สินเชื่อของแบงก์แต่ะแห่งที่มีความแตกต่างกัน อาทิ อาจเห็นการเริ่มทยอยออกอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่เป็นแคมเปญพิเศษ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และ/หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อระยะยาวบางประเภท เพื่อรับกับภาพทิศทางบอนด์ยีลด์และต้นทุนทางการเงินระยะกลาง-ยาวที่ทยอยขยับขึ้นมาก่อนหน้านั้น

        สำหรับในมุมผู้กู้นั้น แม้ในปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยแบงก์อาจจะทรงตัวในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีนี้ แต่ก็คงเป็นการดีหากเริ่มมีการเตรียมตัวรับมือกับจังหวะดอกเบี้ยที่อาจจะขยับขึ้น  โดยสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการระดมทุนใหม่เพื่อรับกับช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวขึ้น ก็คงต้องมองหาทางเลือก-แผนการกู้เงินไว้ล่วงหน้า ซึ่งในตอนนี้ ต้นทุนดอกเบี้ยในการออกหุ้นกู้อายุเกิน 5 ปีทยอยขยับสูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2564 ขณะที่หากสัญญาณขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ก็อาจทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้ระยะสั้นเผชิญแรงกดดันมากขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะที่สินเชื่อจากสถาบันการเงินก็อาจเผชิญภาระดอกเบี้ยเพิ่มเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อาทิ อัตราดอกเบี้ย MLR หรืออัตราดอกเบี้ย BIBOR เริ่มขยับขึ้นด้วยเช่นกัน

       สำหรับในมุมของประชาชนรายย่อยนั้น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยในปัจจุบัน มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ชัดเจน อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียน นาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ อย่างไรก็ดีสำหรับสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ อาทิ ผู้ที่มีสินเชื่อบ้านที่พ้นระยะดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรกมาแล้ว ก็คงต้องเตรียมตัวล่วงหน้ากับภาระดอกเบี้ยที่อาจขยับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ย MLR หรือ MRR โดยอาจมองหาทางเลือกเปรียบเทียบด้วยการรีไฟแนนซ์เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest