Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 กรกฎาคม 2564

Econ Digest

EdTech นวัตกรรมนำเทรนด์ การศึกษาโลก

คะแนนเฉลี่ย
​             ​เทคโนโลยีด้านการศึกษาหรือ Education Technology (EdTech) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก สะท้อนจากข้อมูลของ Holon IQ ที่ประเมินว่า ในปี 2563 เม็ดเงินลงทุนใน Venture Capital ด้าน EdTech มีมูลค่าสูงถึง 16.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 1.3 เท่าจากปี 2562 โดยจำนวนสตาร์ทอัพใน EdTech ทั่วโลกที่สามารถยกระดับตัวเองเป็นยูนิคอร์นมีประมาณ 25 ราย ซึ่งกว่าครึ่งเป็นผู้พัฒนาในจีน ตามด้วยอินเดีย นอกจากนี้ยังพบว่า EdTech ระดับยูนิคอร์นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะอยู่ในคลัสเตอร์ด้านการพัฒนาทักษะและอาชีพ เช่น พัฒนาความสามารถ การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ การเทรนนิ่งระดับองค์กร 
 
              แม้สตาร์ทอัพด้าน EdTech ของไทยยังมีจำนวนผู้เล่นเชิงพาณิชย์ที่จำกัดและมีผู้เล่นเพียงรายเดียวที่สามารถพัฒนาจนเข้าสู่ระดับ Serie A โดยเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการการเรียนรู้ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มองค์กรที่ต้องการพัฒนาความสามารถ (Re-Skill, Up-Skill) ของพนักงาน อย่างไรก็ตาม ตลาดธุรกิจ EdTech ในไทย ได้มีการขยายตัวสอดคล้องไปกับเทรนด์ในระดับสากลเช่นกัน สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ประกอบการทั้งระดับสตาร์ทอัพและบริษัทรายใหญ่ จำนวนหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาทั้งแบบที่มีและไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานที่เติบโตก้าวกระโดดโดยเฉพาะช่วงโควิด เช่น ผู้เรียนใน ThaiMOOC (Thailand Massive Open Online Course Platform) เพิ่มเป็นมากกว่า 8 แสนคน (กุมภาพันธ์ 2564) จากที่มีเพียง 2.66 แสนคนก่อนโควิด 

               นอกจากนี้ แม้โควิดคลี่คลายลง แต่ EdTech ในไทย น่าจะมีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ทำงานและกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ช่องทางนี้เป็นเครื่องมือพัฒนาทักษะ สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่พบว่า ร้อยละ 96 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะหันมาใช้งาน EdTech และการเรียนออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพนักงานประจำที่ต้องการพัฒนาความสามารถและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การใช้งานคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ความรู้ด้านธุรกิจ ความรู้ด้านภาษา
 
              อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า ตลาด EdTech เพื่อการพัฒนาทักษะและอาชีพของไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตของธุรกิจ โดยมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ แต่ตลาดก็มียังคงมีความท้าทายสำหรับผู้พัฒนาหลักสูตรและแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ได้แก่ 1.โอกาสในการสร้างรายได้จากกลุ่มเป้าหมายที่ยังจำกัด เนื่องจากอัตราการเปลี่ยนจากผู้ทดลองใช้งาน (Trial User) หรือผู้ใช้งานฟรี มาเป็นผู้ใช้งานที่เสียค่าใช้จ่าย (Paid User) ยังมีความไม่แน่นอนสูง 2.การแข่งขันจากคอนเท็นต์และแพลตฟอร์มต่างชาติ เนื่องจากราคาค่าใช้จ่ายต่อหลักสูตรของทั้งแพลตฟอร์มในประเทศและต่างประเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 1,500 – 2,000 บาท แต่คอนเท็นต์และใบประกาศของแพลตฟอร์มต่างชาตินั้นได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศอาจเผชิญความท้าทายเรื่องความสามารถในการแข่งขัน 

               กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า หมวด Training Course ในธุรกิจ EdTech ของไทยน่าจะได้รับความนิยมและมีการขยายตัวจากจำนวนผู้ใช้งานและการเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่มากขึ้น ส่งผลให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากช่วงต้นไปสู่ช่วงกลางของการขยายตัว (Growth Stage) ทางธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาผสมผสานเพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น การใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์เพื่อที่จะสามารถนำเสนอหลักสูตรที่มีความเหมาะสมกับองค์กรและผู้เรียนมากยิ่งขึ้น หรือการนำสภาพแวดล้อมแบบเกมส์ (Gamification) เข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตรให้มีความน่าสนใจกว่าเดิม โดยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีบทบาทอย่างมากต่อความสามารถในการสร้างรายได้ระยะยาวของผู้ประกอบการและทิศทางการขยายตัวของกลุ่ม Training Course ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดที่สำคัญของธุรกิจ EdTech ในระยะข้างหน้า


​​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest