Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 กันยายน 2562

Econ Digest

ส่วนต่างดอกเบี้ยพันธบัตรไทย เป็นเพียงส่วนต่าง หรือคือสัญญาณบอกเหตุเศรษฐกิจไทย ?

คะแนนเฉลี่ย

ข่าวสารด้านตลาดเงินตลาดทุนในระยะนี้ มีการพูดกันมากถึงภาวะ Inverted Yield Curve ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งภาวะ Inverted Yield Curve มักเป็นสัญญาณเตือนถึงความไม่ปกติของเศรษฐกิจ ... แล้วภาวะ Inverted Yield Curve คืออะไร? มีความหมายหรือมีความสำคัญอย่างไร? และเกิดภาวะ Inverted Yield Curve กับตลาดพันธบัตรไทยแล้วหรือยัง? วันนี้เรามาหาคำตอบให้คำถามเหล่านี้กัน ...

ในภาวะปกติ ผลตอบแทนของพันธบัตร หรือ Yield ระยะยาว (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปดอกเบี้ย หรือ Capital Gain หรือทั้งสองอย่างผสมกันก็ตาม ซึ่งขอเรียกรวมๆ ในบทความนี้เพื่อความเข้าใจง่ายว่า ดอกเบี้ยพันธบัตร) จะอยู่สูงกว่า Yield พันธบัตรระยะสั้น ซึ่งสะท้อนว่า ยิ่งอายุคงเหลือของพันธบัตรยิ่งนาน พันธบัตรนั้นควรให้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยงให้กับผู้ถือครองหรือผู้ลงทุน เสมือนกับภาระผูกพันของสัญญาเงินกู้ที่ดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการกู้เงิน

ดังนั้น สถานการณ์ที่ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว ลดลงจนไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น หรือที่เรียกกันว่า ภาวะ Inverted Yield Curve จึงไม่ใช่ภาวะปกติ และไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในแวดวงตลาดการเงินมักจะใช้ดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี เป็นตัวแทนของ Yield พันธบัตรระยะยาว และใช้ดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2 ปี เป็นตัวแทนของ Yield พันธบัตรระยะสั้น ซึ่งในกรณีของสหรัฐฯ ที่ส่วนต่างของดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 2 ปี มีค่า “ติดลบ” นั้น น่าจะเกิดจากการที่นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพื่อรีบล็อกดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนจากการลงทุน เนื่องจากประเมินว่า มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะลดดอกเบี้ยลงในระยะข้างหน้า เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถ

จากประสบการณ์ในอดีตของสหรัฐฯ โดยมากเมื่อเกิดภาวะ Inverted Yield Curve แล้ว มักจะตามมาด้วยภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี ภาวะ Inverted Yield Curve ในบางครั้ง (อาทิ ในปี 2525 และ 2541) ก็ไม่ได้ตามมาด้วยภาวะถดถอย ดังนั้น การจะประเมินโอกาสของการเกิดภาวะถดถอย จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับสภาพแวดล้อม/ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาประกอบด้วย

สำหรับตลาดพันธบัตรไทยนั้น โดยส่วนใหญ่ ตลาดพันธบัตรไทยมักจะเคลื่อนไหวตามตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และความต้องการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตลอดเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยของพันธบัตรไทยในทุกช่วงอายุปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากตามทิศทางดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ และการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. อย่างไรก็ดี ส่วนต่างของดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 2 ปี ของไทย ล่าสุด ณ 3 ก.ย. 2562 ยังอยู่ที่ 0.09% หรือ 9 bps ซึ่งยังไม่ติดลบ เท่ากับว่า ไทยยังไม่เผชิญภาวะ Inverted Yield Curve ในขณะนี้

แม้ภาวะ Inverted Yield Curve จะยังไม่เกิดขึ้นกับตลาดพันธบัตรไทย แต่คงต้องยอมรับว่า ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวในปัจจุบันที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ใกล้กันกับดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น น่าจะเป็นสัญญาณที่ยืนยันถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัว และอาจสะท้อนโอกาสความเป็นไปได้มากขึ้นของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยอีกครั้งในระยะข้างหน้า


#พันธบัตร #เศรษฐกิจไทย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest