Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 สิงหาคม 2562

Econ Digest

คัดแยกขยะพลาสติกให้ถูกต้อง ขจัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าให้ภาคครัวเรือนถึง 2,780 ล้านบาท/ปี

คะแนนเฉลี่ย

             การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การขยายตัวของสังคมเมือง หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดวิกฤติปัญหาขยะล้นเมือง โดยสิ่งที่น่ากังวลสำหรับสังคมไทยคือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางที่เป็นพื้นฐานของการลดปริมาณขยะถูกละเลย     ทำให้ขยะที่ย่อยสลายได้ยากอย่างพลาสติกก่อเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้หลายๆ ฝ่ายออกมาให้ความสำคัญผ่านการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดการจัดการขยะอย่างถูกวิธีตามแนวคิดหลัก 3R คือ Reduce Reuse Recycle หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างไรก็ดี การรีไซเคิลขยะนั้นยังมีข้อจำกัดด้านคุณภาพของขยะพลาสติก ซึ่งบางครั้งขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการคัดแยกอย่างถูกวิธีไม่คุ้มค่าที่จะนำเข้าระบบรีไซเคิล ส่งผลให้ขยะเหล่านั้นถูกกำจัดโดยการเผาหรือฝังกลบ ทำให้ที่ผ่านมาขยะเหล่านั้นถูกกำจัดโดยไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมสะสมต่อเนื่อง




              ทุกๆ ปีไทยมีปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นใหม่ราว 2 ล้านตัน โดย 1.5 ล้านตัน หรือร้อยละ 75 ของขยะพลาสติกทั้งหมดไม่ได้รับการคัดแยกจากต้นทางอย่างถูกวิธี ทำให้ไม่สามารถนำไปเข้าระบบรีไซเคิลได้และหลุดปนเปื้อนไปสู่ธรรมชาติ และบางส่วนรอการกำจัดโดยการเผา หรือฝังกลบ กล่าวได้ว่า ขยะพลาสติกพวกนี้นอกจากไม่ก่อให้เกิดรายได้แล้วยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากต้องการกำจัดต้องใช้งบราว 573 ล้านบาท/ปี ที่ภาครัฐและประชาชนต้องรับภาระ ในทางกลับกัน หากการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางและการบริหารจัดการทั้งระบบที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ประมาณ 1.42 ล้านตัน ช่วยประหยัดน้ำมันดิบเพื่อผลิตพลาสติกใหม่ได้ 227ล้านลิตร ประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ประมาณ 8 ล้านลูกบาศ์กเมตร และมีศักยภาพสร้างรายได้ให้ภาคครัวเรือนประมาณร้อยละ 40 จากมูลค่าขยะพลาสติกทั้งหมดราว 2,780 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 2 บาท/กิโลกรัม

                ปัจจุบัน โรงงานแปรรูปเม็ดพลาสติกรีไซเคิลต้องอาศัยการนำเข้าขยะพลาสติกบางส่วนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณขยะพลาสติกที่มีคุณภาพภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ดังนั้น การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจะสามารถทดแทนการนำเข้าอย่างน้อย 2 แสนตัน/ปี อีกทั้ง จากการสนับสนุนการลงทุนธุรกิจรีไซเคิลคาดว่าจะทำให้มีความต้องการขยะพลาสติกที่มีคุณภาพอย่างน้อยราว 50,000 ตัน/ปี อย่างไรก็ตาม ตลาดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่องที่อัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีร้อยละ 3 ซึ่งหากในอนาคตปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาเข้ามาสู่ระบบรีไซเคิลได้ทั้งหมดจากการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพจะสามารถเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลขยายตัว โดยเฉพาะตลาดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในประเทศจีนที่มีความต้องการสูงแต่ยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบสำคัญไปจากตลาดที่มีมูลค่านำเข้าประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี สำหรับไทย การสร้างแรงจูงใจให้ภาคครัวเรือนให้คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น เช่น การรับซื้อขยะพลาสติกรีไซเคิลถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่จูงใจ ทั้งนี้ แต่ละประเทศก็มีระบบการแยกขยะพลาสติกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการจัดการและพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่สิ่งที่ทุกประเทศทำคือ การปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือนของตนเอง

             ดังนั้น  กล่าวได้ว่าแนวทางการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางนั้นไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยให้เกิดรายได้สำหรับครัวเรือน ลดการสูญเสียงบประมาณในการกำจัดที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ยังมีส่วนช่วยให้เกิดระบบการกำจัดขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและส่งผลให้ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าโดยการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งแม้ว่าในอนาคต การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับวัสดุทดแทนหรือวัสดุทางเลือกจะเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็ยังถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการกำจัดให้เป็นไปอย่างถูกวิธี เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest