Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กันยายน 2562

Econ Digest

พิษเศรษฐกิจโลกต่ออาเซียน ไทย มาเลเซีย รับผลกระทบ เร็วและแรงสุด

คะแนนเฉลี่ย

​​​สงครามการค้าที่มีความตึงเครียดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก  สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศในไตรมาส 2/2562 ที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยเศรษฐกิจจีน เติบโตในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 27 ปีที่ร้อยละ 6.2 (YoY) ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 (YoY) ในไตรมาส 2/2562 เมื่อเทียบกับร้อยละ 3.1 (YoY) ในไตรมาส 1/2562 ขณะที่ เศรษฐกิจเยอรมนีเติบโตในอัตราติดลบเป็นที่เรียบร้อยแล้วในไตรมาส 2/2562 โดยหดตัวที่ร้อยละ (-)0.1 (YoY) ทำให้เป็นที่น่าวิตกว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในระยะอันใกล้ 



ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ชะลอตัว การส่งออกของแต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างแรก สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้น แต่ละประเทศก็จะได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

1.) ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในระดับที่สูง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และกัมพูชา มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการชะลอตัวของการส่งออก อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบในระดับและในระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยไทยและมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุด เนื่องจากทั้งไทยและมาเลเซียมีความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับภายในภูมิภาคค่อนข้างสูง (เห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน+3) จึงทำให้ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกๆ จากการที่การส่งออกของจีนทรุดตัวลง โดยการส่งออกของไทยและมาเลเซียหดตัวถึงร้อยละ (-)2.9 (YoY)  และ (-)4.7 (YoY)  ตามลำดับในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ในทางตรงกันข้าม แม้ว่ามูลค่าการส่งออกต่อ GDP ของเวียดนามและกัมพูชาจะอยู่ในระดับที่สูง แต่การส่งออกของเวียดนามและกัมพูชามีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากกัมพูชามีตลาดส่งออกที่ค่อนข้างหลากหลายและมีความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับภายในภูมิภาคไม่มากนัก  ส่งผลให้กัมพูชาสามารถกระจายความเสี่ยงและได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่รุนแรงเท่าใดนัก โดยการส่งออกของกัมพูชาในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ยังคงเติบโตได้ดีที่ราวร้อยละ 13 (YoY) ขณะที่ เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลพลอยได้จากสงครามการค้าอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ผู้นำเข้าเปลี่ยนมาสั่งซื้อสินค้าจากเวียดนามแทนจีนเพื่อเลี่ยงอัตราภาษีที่สูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของเวียดนามยังคงเติบโตได้ดี โดยขยายตัวถึงร้อยละ 7.2 (YoY) ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ นอกจากนี้ ทั้งกัมพูชาและเวียดนามยังได้เปรียบในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเวียดนามมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างคงที่ ขณะที่ กัมพูชามีสัดส่วนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้โดนฉุดรั้งด้วยปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของทั้งเวียดนามและกัมพูชาก็มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกในอนาคตข้างหน้าเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เวียดนามและกัมพูชามีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ หันมาเล่นงานเวียดนาม ก็จะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจเวียดนามเป็นอย่างมาก อีกทั้ง การส่งออกของเวียดนามที่กระจุกตัวอยู่ในสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลง ในขณะที่ การส่งออกของกัมพูชาก็เผชิญความเสี่ยงเช่นเดียวกัน หากสหภาพยุโรประงับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงทางการค้าแบบปลอดภาษีของกัมพูชาภายใต้โครงการ Everything but Arms (EBA) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาได้รับความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา

2.) ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในระดับที่ไม่สูงนัก เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และเมียนมา มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกไม่มากนัก โดยหากเศรษฐกิจภายในประเทศมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิม เศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มที่จะยังเติบโตไปได้ สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศที่มีอุปสงค์ภายในประเทศค่อนข้างแข็งแกร่ง ได้แก่ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ เศรษฐกิจภายในประเทศของเมียนมาและสปป.ลาวมีพื้นฐานที่ไม่ค่อยแข็งแกร่งเท่าใดนัก โดยปัจจัยเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้นอาจสร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจของเมียนมาและสปป.ลาวถดถอยได้ ทั้งนี้ สปป.ลาวมีเสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างอ่อนแอ โดยมีการขาดดุลการคลังและหนี้ต่างประเทศในระดับที่สูง ขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสปป.ลาวมีความเปราะบางอย่างมากต่อปัจจัยเชิงลบต่างๆ ขณะที่ เมียนมามีปัญหาความไม่มั่นคงภายใน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้การลงทุนในเมียนมาชะงักงันได้

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่อ่อนแรงลง หากการส่งออกมีสัดส่วนของการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรในระดับที่ค่อนข้างสูง จะส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มที่จะทรุดตัวลงอย่างมากตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจได้ เช่นในกรณีของอินโดนีเซีย โดยการส่งออกของอินโดนีเซียในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้หดตัวถึงร้อยละ (-)8.6 (YoY) ขณะที่ แม้ว่าสปป.ลาวจะมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับที่สูง แต่เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์ที่สปป.ลาวส่งออกส่วนมากคือไฟฟ้า ซึ่งมีอุปสงค์ค่อนข้างแข็งแกร่งและไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเท่าใดนัก ส่งผลให้การส่งออกของสปป.ลาวมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

      กล่าวโดยสรุป ท่ามกลางสงครามการค้าที่คุกรุ่นยิ่งขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกค่อนข้างสูง โดยการส่งออกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนมีแนวโน้มที่จะทรุดตัวลงก่อนการส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ ขณะที่ การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ก็ถูกกดดันอย่างมากจากปัจจัยด้านราคา ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลง ดังนั้น แต่ละประเทศจึงควรเตรียมรับมือกับผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ และพิจารณาใช้มาตรการกระตุ้นต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถประคองเศรษฐกิจไปได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตอันใกล้​



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest