Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กรกฎาคม 2562

Econ Digest

หนี้บ้าน-หนี้รถ ทำหนี้ครัวเรือน Q1/62 โตขึ้น 6.3% อยู่ที่ 12.97 ล้านล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย
  • ​​​ข้อมูลล่าสุดจากธปท. สะท้อนว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงขยับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 มาอยู่ที่ 78.7% ต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี เทียบกับสัดส่วนประมาณ 78.6% ต่อจีดีพีในไตรมาส 4/2561 

             ​แม้มาตรวัดหนี้ครัวเรือนที่คิดเป็นสัดส่วนต่อขนาดเศรษฐกิจข้างต้นจะเพิ่มขึ้นจากระดับช่วงปลายปีก่อนไม่มาก แต่หากดูภาพรวมยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ภาระหนี้สินที่อยู่ในภาคครัวเรือนของไทย จะพบว่า เฉพาะในไตรมาสที่ 1/2562 หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้นมาที่ 12.97 ล้านล้านบาท เติบโตถึง 6.3% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหลักๆ แล้วยังเป็นผลมาจากหนี้บ้าน-หนี้รถ ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อบ้านของสถาบันการเงิน (+8.0% ในไตรมาส 1/2562) ก่อนมาตรการ LTV ซึ่งเริ่มมีผลในเดือนเม.ย. 2562 และยอดขายรถยนต์ในประเทศ (+11.2% YoY) ที่ได้รับแรงหนุนจากการออกรถรุ่นใหม่ และแคมเปญส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ


 

  • หนี้ครัวเรือนยังเร่งตัวขึ้น สวนทิศทางเศรษฐกิจไทยตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ธปท. ส่งสัญญาณเข้ามาดูแลเพื่อลดความเสี่ยงในภาคการเงินผ่านมาตรการต่างๆ (ทั้งมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินและมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน) และเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพรวมของมาตรการในระยะหลัง จะเป็นการมุ่งเน้นไปที่การดูแลความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการก่อหนี้เกินตัว และลดโอกาสการเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคสถาบันการเงิน ​
  • สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2562 ไว้ที่ 77.5-79.5% ต่อจีดีพี (เทียบกับระดับ 78.6% ต่อจีดีพีในปี 2561) โดยมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และการเร่งก่อหนี้ก้อนใหญ่ตลอดช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา อาจทำให้ครัวเรือนหลายส่วนใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการก่อหนี้ก้อนใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสัญญาณการกำกับดูแลสถาบันการเงินของธปท. รวมถึงมาตรการด้านเศรษฐกิจที่อาจช่วยบรรเทาปัญหาภาระค่าครองชีพและสร้างความสมดุลระหว่างรายได้-ภาระหนี้ของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย จากรัฐบาลชุดใหม่ด้วยเช่นกัน  ​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest