Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 สิงหาคม 2562

Econ Digest

ครัวเรือนกังวลหนัก... ฉุดดัชนี KR-ECI ก.ค. ร่วงต่ำสุดในรอบ 66 เดือน

คะแนนเฉลี่ย
      ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือน ก.ค. 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
เป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 41.5 สาเหตุจากความกังวลในทุกมิติเศรษฐกิจ
ของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องรายได้ การมีงานทำ ค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระ
หนี้สิน ขณะที่ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน จาก
ระดับ 44.9 มาอยู่ที่ระดับ 43.9 เป็นผลจากความกังวลของครัวเรือนต่อภาระหนี้สินในอนาคตเป็นสำคัญ

ผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ประจำเดือนนี้พบว่า 
ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 57.3 ให้เหตุผลว่าส่วนใหญ่มาจากราคาสินค้าและบริการ
ที่แพงขึ้น ขณะที่ครัวเรือนร้อยละ 20.9 บอกว่ามีรายได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาชีพค้าขายหรือประกอบธุรกิจ
ส่วนตัว บอกว่าขายสินค้าได้ลดลง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.7 ต้องกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจาก
บัตรเครดิตมากขึ้นเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 

 ​       ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้สำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในหน่วยงานที่ครัวเรือนซึ่งเป็น
กลุ่มตัวอย่างมีสถานะเป็นเจ้าของหรือลูกจ้าง พบว่าสัญญาณของ การเลิกจ้าง การลดเวลาในการทำ OT
และการชะลอรับพนักงานใหม่ ในเดือน ก.ค. 2562 มีอัตราสูงขึ้นจากผลสำรวจในช่วง เม.ย. 2562 
โดยเฉพาะการชะลอรับพนักงานใหม่ สูงถึงร้อยละ 25.4 สอดคล้องกับตัวเลขการว่างงานในเดือน ก.ค. 2562
ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า การชะลอ
ตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา เริ่มทยอยส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังตลาด แรงงานภายในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562
จะเผชิญโจทย์ที่ท้าทายและยากลำบากมากขึ้น หลังผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ค่อยๆ ส่งผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ขณะที่ราคาสินค้าและบริการหลายรายการเตรียมขยับขึ้น นอกจากนี้
ภาคการส่งออกยังเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก
1.75% เป็น 1.50% ก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระหนี้ในอนาคตของภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ แต่ยังต้อง
ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน และคงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก
รัฐบาลว่าจะมีส่วนช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีหรือไม่



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest