Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 สิงหาคม 2562

Econ Digest

ผ่อนปรน LTV ใคร...ได้ประโยชน์ ?

คะแนนเฉลี่ย

​  ​        จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาผ่อนปรนมาตรการ LTV ในส่วนของการนับสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีการกู้ร่วมให้มีความยืดหยุ่นขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการปรับเกณฑ์ LTV ครั้งนี้ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนจากเกณฑ์เดิมที่ผู้กู้ร่วมสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจะถือเป็นการกู้ของทุกคน ในขณะที่เกณฑ์ใหม่ กรณีผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ให้ผ่อนปรนเสมือนว่ายังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น หรือไม่นับสัญญาที่ผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในสัญญานั้นๆ

            สำหรับผลจากการผ่อนเกณฑ์มาตรการ LTV นี้ เป็นผลดีต่อผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ที่มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยที่จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น และช่วยผ่อนแรงกดดันส่วนหนึ่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์จากฝั่งของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่กำลังเผชิญกับปัจจัยท้าทายรอบด้าน

            สำหรับผลจากการผ่อนเกณฑ์มาตรการ LTV ต่อภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยนั้น  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบน่าจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนเกณฑ์ เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้นกว่าที่อยู่อาศัยแนวสูงทำให้ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์ที่สูงขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ได้ประโยชน์จากการผ่อนเกณฑ์ LTV ล่าสุดนี้ มากกว่าที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยน่าจะอยู่ในกรอบจำกัด โดยภาพรวมของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งปี 2562 ยังคงติดลบแต่อาจจะติดลบในอัตราที่น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากกลุ่มผู้ที่มีสัญญากู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนไม่สูง (จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้น พบว่า สัญญากู้ร่วมของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเฉลี่ยมีประมาณร้อยละ 30-40 ของสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ในส่วนนี้จะมีทั้งผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย และที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย) กอปรกับยังต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยหรือความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของผู้บริโภคนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ขณะที่ตลาดยังมีปัจจัยท้าทายรออยู่ข้างหน้าทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมที่ยังอ่อนแรง ที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมที่ยังสูง กอปรกับการแข่งขันในธุรกิจที่สูง 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest