Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 สิงหาคม 2562

Econ Digest

ต่อไปนี้ ต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศจะถูกลง ด้วย...เทคโนโลยี Peer-to-Peer Money Transfer

คะแนนเฉลี่ย

คำว่า ฟินเทค หรือนวัตกรรมทางการเงิน ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจกำลังคิดว่า น่าจะเป็นเทคโนโลยีหลังบ้านที่ไกลตัวเอง แต่แท้จริงแล้ว ฟินเทคเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด อาทิ บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนที่ธนาคารเริ่มให้บริการแล้ว การพัฒนานวัตกรรมอัจฉริยะด้านการลงทุน (WealthTech) อย่างเทคโนโลยีบริหารตราสารทุนอัตโนมัติ (Automated stock investment) หรือแม้แต่ความพยายามในการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกการโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินเพื่อการศึกษา การโอนเงินชำระค่าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ หรือการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานต่างด้าว เนื่องจากไทยนับได้ว่ามีมูลค่าการโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน[1]

โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าสนใจซึ่ง FinTech ต่างประเทศแข่งขันกันพัฒนา ได้แก่ รูปแบบธุรกิจ peer-to-peer money transfer[2] ที่อาศัยเทคโนโลยี matching model ด้วยเส้นทางการชำระเงินที่แตกต่างธุรกรรมแบบดั้งเดิมที่ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ใช้กันมานาน (Existing technology) อย่างการชำระเงินผ่านตัวกลาง S.W.I.F.T[3] ที่คุ้นหู โดยเทคโนโลยี FinTech นี้เน้นการ match ธุรกรรมการรับและส่งเงินสกุลเดียวกันภายในประเทศให้มากที่สุด[4] ซึ่งช่วยลดต้นทุนการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนการโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศได้ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ธนาคารไทยเองได้พยายามสรรหา Partnership กับบริษัท FinTech ต่างประเทศที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีดังกล่าวผ่านการร่วมลงทุนในระดับ Venture Capital ในช่วงที่ผ่านมา

จุดเด่นของรูปแบบธุรกิจข้างต้นที่เสนอต่อผู้บริโภครายย่อยนั้น คือต้นทุนการโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศที่ถูกลงมาก โดยต้นทุนโดยเฉลี่ยของการโอนเงินจำนวน 500 ดอลลาร์ฯ โดยใช้เทคโนโลยี Peer-to-peer money transfer จะอยู่เพียงราว 0.5-3%[5] ขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่โอน ซึ่งนับได้ว่าต่ำกว่าต้นทุนโดยรวมของการโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศจากรายงานของ ธปท. ซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 7.28%[6] ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ก็มีสถาบันการเงินไทยบางแห่งที่เริ่มให้บริการในอัตราค่าธรรมเนียมการโอนเงินจำนวน 500 ดอลลาร์ฯ ต่ำเพียงราว 1.6%[7] โดยต้นทุนการโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศที่ต่ำลงนี้อยู่ในกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศ (Sustainable Development Goal) ที่ทาง United Nation ได้คาดไว้ว่า ภายในปี 2030 หรือ 11 ปีต่อจากนี้ ต้นทุนการโอนเงินรายย่อยระหว่างประเทศจะต้องต่ำกว่า 3%

[1] ข้อมูลจาก Outward Remittance Flows ของ World Bank ณ เดือน เม.ย. 2562

[2] FinTech จำนวนมากทั่วโลก อาทิ  MoneyMatch (มาเลเซีย) Instarem (สิงคโปร์) Transferwise (อังกฤษ) หันมาพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพิ่มมากขึ้น

[3] เนื่องจากธนาคารยังต้องพึ่งพาตัวแทนต่างประเทศ (Correspondent Bank) ด้วยขั้นตอนการ settlement ทางบัญชีรายการต่อรายการ ผ่าน S.W.I.F.T เพราะธนาคารผู้ส่งและผู้รับไม่ได้ใช้ระบบชำระเงินเดียวกัน และบางครั้งอยู่ใน Time zone ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ต้นทุนสูงและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานซึ่งบางครั้งกินเวลาเกือบ 5 วัน

[4] จากเดิมที่การโอนเงินจะส่งตรงจากผู้ส่งถึงมือผู้รับเป็นรายรายการ แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้จะพยายามลดการโอนเงินโดยตรงข้ามประเทศให้มากที่สุด โดยระบบจะรวบรวมคำสั่งการโอนเงินระหว่างประเทศไว้ แล้วอาศัยการโอนเงินสกุลเดียวกันของผู้ส่งไปยังบัญชีสกุลเงินเดียวกับผู้รับ ถึงแม้จะเป็นคนละคำสั่งก็ตาม

[5] ข้อมูลรวบรวมจาก Website Instarem และ TransferWise

[6] อ้างอิงจาก https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/News2562/n662t.pdf

[7] ค่าธรรมเนียม 250 บาทต่อการโอนเงินจำนวนน้อยกว่า 20,000 บาท โดยหากโอนเงิน 500 ดอลลาร์ฯ หรือราว 16,000 บาท ค่าธรรมเนียม 250 บาทจะคิดเป็น 1.6%



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest