Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 สิงหาคม 2562

Econ Digest

บาทแข็ง...เฉพาะหน้าท้าทายการส่งออก โจทย์ต่อไป “โครงสร้างการผลิต”

คะแนนเฉลี่ย

​                       ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ต่างตอกย้ำความความยากลำบากของไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบกำลังเข้าสู่สภาวะติดขัดหดตัวลงร้อยละ 1.9 (YoY) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 และยังมีภาพอ่อนแรงต่อเนื่องทั้งปี ส่งผลมายังการลดลงของรายได้ธุรกิจการผลิตสินค้ารายใหญ่และธุรกิจเกี่ยวเนื่องรายย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนการปรับลดจ้างงานให้สอดรับกับต้นทุน กระทบต่อเนื่องไปถึงการชะลอการใช้จ่ายของแรงงาน นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยล่าสุดชะลอลงเหลือร้อยละ 2.3 ในไตรมาส 2/2562 อีกทั้ง การอ่อนแรงเหล่านี้จะคงอยู่กับไทยไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง


                 คงปฎิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทไทยเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สุดในตอนนี้เมื่อเทียบกับทิศทางค่าเงินของทั้งภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่อ่อนค่ากว่าไทย และเวียดนามที่ได้อานิสงส์จากค่าเงินช่วยขับเคลื่อนการส่งออกที่มีสินค้าหลายรายการคล้ายคลึงกับไทย ยิ่งซ้ำเติมการส่งออกของไทยเข้าไปอีก

                   นัยที่สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวอาจไม่ใช่การผลักดันให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้ผลลัพธ์ออกมากในอัตราที่สูงเหมือนในอดีต ซึ่งในเวลานั้นเป็นช่วงเริ่มแรกของการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยมี FDI เป็นแกนหลักในการพลิกโฉม ขณะที่เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นกับเวียดนาม เมื่อบวกกับค่าเงินด่องของเวียดนามที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า อีกทั้งเวียดนามมีพร้อมด้วยแต้มต่อด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าหลายฉบับที่เตรียมใช้งาน นักลงทุนจึงพุ่งเป้าไปยังเวียดนามดังที่เห็นได้จากตัวเลข FDI ที่รายงานโดยหน่วยงานในประเทศก็ยังคงเติบโตเร่งตัวร้อยละ 61 (YoY) ยิ่งขับเคลื่อนทั้งการส่งออกและเศรษฐกิจของเวียดนามให้โตเร่งขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนสวนทางกับสิ่งที่ไทยเผชิญอยู่

​                         ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าโจทย์หลักของรัฐบาลไทยคงต้องพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกมากถึงเกือบร้อยละ 70 โดยจะทำอย่างไรให้การส่งออกของไทยสามารถประคับประคองเศรษฐกิจของไทยให้หมุนไปในทิศทางที่นำพาคนทั้งประเทศอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องมีอัตราการเติบโตที่สูงโดดเด่นเหมือนประเทศอื่น โดย1) นโยบายระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ยังต้องประคองให้ทุกภาพส่วนขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่องเพื่อมิให้การว่างงานเพิ่มมากขึ้น 2) นโยบายระยะกลาง-ยาว ต้องอดทนรอเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยนโยบายต่างๆ ของทางการไทยอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการยกระดับประเทศไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขั้นสูงในอุตสาหกรรม S-Curve นั้นจะยิ่งทำให้ไทยมีพื้นที่ยืนในเวทีโลกมากขึ้น การดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยความต่อเนื่องของนโยบายรวมทั้งใช้เวลาจึงจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ​​​



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest