Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 สิงหาคม 2562

Econ Digest

สงครามการค้า ลามสู่...สงครามค่าเงิน ซ้ำแผล...เศรษฐกิจไทย!

คะแนนเฉลี่ย
​​​          จีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงมาอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติม 10% มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณว่า จีนพร้อมที่จะตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยการลดค่าเงิน แต่เป็นการเปิดช่องให้สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) สร้างความชอบธรรมให้สหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าเพื่อปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (CVD)ได้เข้มข้นขึ้นไปอีก 

            ทั้งนี้ จีนอาจใช้มาตรการลดค่าเงินเพิ่มเติมเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ อีกในอนาคต  แต่จะไม่ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่ามากจนเกินไป เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากจีนอย่างรวดเร็ว ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อเสถียรภาพทางการเงินและลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่ สหรัฐฯ อาจโต้กลับด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% จากประกาศล่าสุด 

              ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยจุดเริ่มต้นของ America First ทำให้สหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าวในการเจรจากับจีนแต่ละรอบ จนถลำลึกสู่เส้นทางนโยบายที่ผิดพลาดทั้งสองฝ่าย เพราะสิ่งที่ตามมากลับไม่เอื้อประโยชน์ใดๆ แต่กลับทำให้ทั้งสองต้องหาวิถีทางประคองให้เศรษฐกิจของตนไปต่อได้ ท่ามกลางจุดยืนของแต่ละฝ่ายบนเวทีโลก ซึ่งมาตรการตอบโต้ที่ทั้งคู่จะนำออกมาใช้หลังจากนี้ อาจบั่นทอนเศรษฐกิจโลกให้ไถลอ่อนแรงลงอย่างมากในปี 2563 และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

               ​สำหรับไทยคงยากที่จะหลบเลี่ยงผลกระทบ โดยเฉพาะค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยที่อ่อนแรงอยู่แล้วชะลอตัวลงกว่าเดิมอีก อันเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยชะงักงันได้ในระยะใกล้นี้ ทางการไทยจำเป็นต้องเร่งพิจารณามาตรการเฉพาะหน้า
ด้วยการใช้นโยบายทางการคลังที่ยังพอมีช่องว่างให้สามารถทำได้ เช่น การปรับลดภาษีภาคธุรกิจ การเร่งรัดคืนภาษีส่งออก เป็นต้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยที่กำลังเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest