Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 ธันวาคม 2562

Econ Digest

ไทยต้องเตรียมรับมือ! “Limited Trade Deal” สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ต้นแบบเจรจาการค้า...กับประเทศที่อเมริกาฯ ขาดดุล

คะแนนเฉลี่ย

​​​​ความตกลงการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ครั้งนี้สะท้อนวิสัยทัศน์เชิงนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบดุลการค้าในระยะข้างหน้า โดยจะเป็นไปในลักษณะของการต่อรองผลประโยชน์เฉพาะเรื่องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ในรูปแบบที่สหรัฐฯ ต้องการ ที่ในครั้งนี้ญี่ปุ่นยอมเปิดตลาดสินค้าเกษตรบางส่วนให้แก่สหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดครั้งแรกและครั้งสำคัญ อันเป็นเครื่องยืนยันจุดยืนของสหรัฐฯ ในการกดดันให้คู่เจรจาการเปิดตลาดให้แก่สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ต่อจากนี้ ซึ่งสหรัฐฯ จะเดินหน้าใช้เป็นเครื่องมือที่เอื้อสร้างคะแนนนิยมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงเดือน พ.ย. 2563

อนึ่ง ในความเป็นจริงแล้วแรงกดดันทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับจีน เพียงแต่วิธีการที่ใช้กับญี่ปุ่นเป็นแรงกดดันโดยอ้อมผ่านมาตรการทั่วไปที่ส่งผลสืบเนื่องไปยังธุรกิจสำคัญของญี่ปุ่น อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม ยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งก็ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งในเดือน ต.ค.2562 ทั้งคู่ได้หันหน้าเข้าสู่เส้นทางการเจรจาแบบจำกัดขอบข่ายผลประโยชน์ (Limited Trade Deal) ที่ครอบคลุมมูลค่าการค้า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และในที่สุดรัฐสภาญี่ปุ่นก็มีมติเห็นชอบต่อความตกลงดังกล่าว (4 ธ.ค.2562) โดยในวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะเริ่มบังคับใช้ความตกลงในระยะที่ 1 ประกอบด้วย ข้อตกลงแรก ญี่ปุ่นจะลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าเกษตร เนื้อวัว และเนื้อสุกร ขณะที่สหรัฐฯ จะลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าญี่ปุ่นเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วน (ไม่รวมรถยนต์และส่วนประกอบ) ข้อตกลงที่สอง ทั้งสองฝ่ายร่วมกันการสร้างรากฐานทางกฎหมายในการค้าสินค้าดิจิทัล อาทิ ซอฟต์แวร์และเกม และจะไม่มีการเก็บภาษีระหว่างกันในอนาคต สำหรับการเจรจาในระยะที่ 2 จะเริ่มในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าเจรจาให้สหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ พร้อมทั้งหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อหยุดยั้งไม่ให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการปกป้องความมั่นคงของชาติ มาตรา 232 ในการขึ้นภาษีอีก 25% กับสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้ ผลที่เกี่ยวเนื่องต่อไทยโดยตรงจากเรื่องนี้มีน้อยมาก เนื่องจากโครงสร้างการค้าและสินค้าส่งออกของไทยที่ไปทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้ การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นยังได้สิทธิการทำตลาดได้อย่างเสรีตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) และกรอบการค้า FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan FTA: AJFTA) ขณะที่การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ แม้ไทยจะยังไม่มีความตกลงทางการค้าใดๆ แต่สินค้าไทยได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ที่เป็นตัวช่วย อีกทั้ง สินค้าไทยก็ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่นในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ เปิดตลาดให้ญี่ปุ่นในระยะแรกนี้

ณะที่ความตกลงในระยะที่ 2อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยผ่านห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนยานยนต์ที่เชื่อมโยงกับญี่ปุ่นที่ได้อานิสงส์จากการลดภาษียานยนต์และส่วนประกอบของสหรัฐฯ ประกอบด้วยการลดภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ของสหรัฐฯ ลงเหลือ 0% จากที่เคยอยู่ในระดับ 2.5% และ 25% ตามลำดับ และการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ของสหรัฐฯ ลงเหลือ 0% จากปัจจุบัน 2.5% ย่อมมีผลทำให้สหรัฐฯ นำเข้ารถยนต์รวมถึงชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอานิสงส์ต่อไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ญี่ปุ่น ในการส่งออกส่วนประกอบและชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผลบวกดังกล่าวมีค่อนข้างจำกัดเพราะรถยนต์นั่งที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่นมีอัตราภาษีไม่สูงนัก ขณะที่กลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์และชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่สหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโก ที่ก็มีค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศดังกล่าวอยู่แล้ว  

ดังนั้น สิ่งที่ไทยอาจจะต้องเผชิญในระยะข้างหน้า คือ สหรัฐฯ คงจะใช้วิธี Limited Trade Deal โดยเดินหน้ากดดันไทยผ่านหลายมาตรการไม่ว่าจะเป็นการตัดหรือลดทอนสิทธิ GSP ที่ให้ต่อไทย หรือใช้มาตรการตอบโต้ไทยในกรณีที่ไทยเข้าข่ายประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เพื่อเร่งรัดให้เกิดการเจรจาต่อรองผลประโยชน์แบบทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งทางการไทยคงต้องเตรียมแผนงานการเจรจาอย่างรัดกุมโดยเฉพาะด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลที่จะเป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ ต่อจากนี้ไป


​ 



 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest