Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 พฤศจิกายน 2562

Econ Digest

National Digital Trade Platform แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ

คะแนนเฉลี่ย

​       โลกการค้าระหว่างประเทศกำลังมุ่งสู่กระแสการค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Trading) กระบวนการหลังบ้านสำหรับรองรับธุรกรรมการค้าในรูปแบบใหม่นี้จึงต้อง รวดเร็ว" ขึ้นมากกว่าการค้าแบบดั้งเดิม ล่าสุด แนวคิดพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ (National Digital Trade Platform: NDTP) จึงได้ถูกพูดถึง เพื่อเป็นการสร้าง ระบบนิเวศการค้า (Trade ecosystem)" ใหม่ครั้งสำคัญที่เชื่อมโยงภาคเอกชนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเข้าด้วยกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ผู้นำเข้าและส่งออก freight forwarder บริษัทประกันภัย หรือนายหน้าในการจัดการผ่านพิธีการศุลกากร (Customs broker) ทดแทนกระบวนการหลังบ้านแบบดั้งเดิมที่เป็นออฟไลน์และเน้นเอกสารจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระสำหรับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าระหว่างองค์กรธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B)      

      ข้อดีอีกประการของการสร้างระบบนิเวศ NDTP ขึ้นมานี้ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบ National Single Window (NSW) ที่เป็นระบบของภาครัฐที่ได้พัฒนาไปแล้วก่อนหน้า[1] ได้อย่างครบวงจรและบูรณาการมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน ผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายก็ติดต่อกับหน่วยงานรัฐแบบแยกส่วนกัน ทำให้มีความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงานและข้อมูลที่ส่งต่อไปยังภาครัฐโดยไม่จำเป็น โดยระบบนิเวศ NDTP นี้จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการค้าระหว่างประเทศของผู้ที่เกี่ยวข้องภาคเอกชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลระหว่างรัฐกับเอกชนทำได้สะดวก รวดเร็วและไร้รอยต่อ

        แล้วมูลเหตุสำคัญของการสร้างระบบนิเวศ NDTP ที่เน้นกระบวนการหลังบ้านแบบดิจิทัลมาจากอะไร แท้จริงแล้วในปัจจุบัน การค้าระหว่างประเทศ" ครอบคลุมผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่กระบวนการทำงานส่วนมากที่ยังอยู่ในรูปแบบกระดาษเป็นหลัก (Paper-based transactions) ได้สร้างความลำบากให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระยะเวลาและต้นทุนในการดำเนินงานที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เนื่องจากจำต้องใช้บุคลากรในการดำเนินงานและพิจารณา[2] โดยข้อมูลล่าสุดโดยธนาคารโลกพบว่า ในปี 2561 ต้นทุนด้านเอกสารการค้าระหว่างประเทศของไทย (Cost to exports: Documentary compliance cost) สูงติดอันดับ 6 ของอาเซียน เป็นรองเพียง CLMV และอินโดนีเซีย และหากเทียบเป็นสัดส่วนต่อต้นทุนการค้ารวม (Total trade cost)[3] จะสูงถึงกว่า 16% ซึ่งนับว่าสูงกว่าต้นทุนด้านภาษีศุลกากรซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ราวร้อยละ 10% ด้วยซ้ำ ดังนั้น ระบบนิเวศ NDTP จึงมีส่วนช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาดำเนินการ ผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถึงแม้จุดประสงค์หลักของระบบนิเวศ NDTP ทางการไทยต้องการอำนวยความสะดวกการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว การค้าระหว่างประเทศแบบออฟไลน์ในปัจจุบันก็ได้อานิสงส์จากระบบนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

        ความพยายามในการผลักดันกระบวนการค้าระหว่างประเทศให้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น บางประเทศได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ (ระบบ Networked Trade Platform) ญี่ปุ่น (Japan Trade Platform ที่กำลังพัฒนาโดย NTTD) หรือสหภาพยุโรป (ระบบ we.trade) โดยทุกระบบมีรูปแบบของแพลตฟอร์มหลัก (Core platform) คือ การมีแพลตฟอร์มออนไลน์กลางที่เชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ผ่านการจัดเก็บข้อมูลทุกขั้นตอนของการค้าระหว่างประเทศให้อยู่ในรูปแบบ digitalization ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เหมือนกันทั้งหมด (Transparency) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็นลง (Efficiency) อาทิ การพัฒนา e-Invoicing อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของระบบ Networked Trade Platform ของสิงคโปร์นั้นอยู่ตรงบริการเสริม (Value-added service) ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ Core platform ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานเอกชนนั้นๆ พัฒนาเอง หรือแม้แต่การเข้ามามีส่วนร่วมของสตาร์ทอัพก็ตาม อาทิ การพัฒนา Online marketplace สำหรับการค้นหาการบริการขนส่งทางเรือของสตาร์ทอัพชื่อ Hakovo

       จากการที่ต่างประเทศได้พยายามพัฒนากระบวนการค้าระหว่างประเทศให้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จึงนับเป็นความจำเป็นของไทยในการเร่งพัฒนาระบบนิเวศ NDTP เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ (Synergy) ในอนาคตได้ อาทิ การเข้าถึงข้อมูลผู้นำเข้าของธนาคารในประเทศของผู้ส่งออกจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างประเทศ ผ่านการประเมินความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมและฉับไว ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย หากไม่นับแพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศแบบดิจิทัลที่ยังไม่ได้เริ่มต้นนั้น ภาคเอกชนไทยในบางอุตสาหกรรมก็ได้ริเริ่มปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการบ้างแล้ว และนวัตกรรมที่พัฒนาก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบนิเวศ NDTP ในอนาคตได้ อาทิ ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Thailand Blockchain Community Initiative เพื่อสร้างระบบ Blockchain สำหรับภาคธนาคารใช้งานร่วมกัน โดยผลงานชิ้นแรกคือ การให้บริการหนังสือค้ำประกันบน Blockchain จึงนับได้ว่า ภาคเอกชนไทยแต่ละอุตสาหกรรมก็ได้พยายามลดความยุ่งยากและซับซ้อนของกระบวนการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับตนเองมาโดยตลอด ถึงแม้จะยังไม่มีแนวคิดระบบนิเวศ NDTP นี้ก็ตาม

​         อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการพัฒนา National Digital Trade Platform ให้ประสบความสำเร็จนั้น ประสิทธิผลของระบบนิเวศ NDTP อาจขึ้นอยู่กับอัตราการยอมรับ (Adoption rate) ของผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการที่ยังกังวลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของตนในระบบ หรือผู้ประกอบการที่มีทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับไม่สูง (Low digital literacy) โดยเฉพาะ SMEs อาจลังเลในการเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มนี้ ดังนั้น ทางการไทยควรเร่งแก้ความท้าทายดังกล่าวด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศให้เข้ามาในระบบนิเวศนี้มากที่สุด หรือพูดในอีกแง่หนึ่งคือการสร้าง Network effect ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ระบบนิเวศนี้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ซึ่งหากระบบนิเวศ NDTP เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศแล้ว อาจมีส่วนช่วยดึงดูดให้ผู้ประกอบการใหม่ๆ โดยเฉพาะ SMEs ที่อาจไม่เคยพิจารณาทำการค้าระหว่างประเทศ เพราะมีความยุ่งยากและต้นทุนสูงนั้น ให้สามารถตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจมากขึ้น โดยอาจชูจุดเด่นของการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ (Market access) หรือการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกมากขึ้น (Financial access)



[1] เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐกันเอง (Government to government: G2G) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน (Business to government: B2G)

[2] ตัวอย่างของการส่งออกสินค้า 1 ประเภทของสิงคโปร์อาจจะเกี่ยวเนื่องกับผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 25 ราย มีเอกสารที่ต้องดำเนินการกว่า 30-40 รายการที่อาจต้องใช้ระยะเวลาน​านหากดำเนินการทางด้านเอกสารด้วยกระดาษ และมีชุดข้อมูลที่ต้องพิมพ์ซ้ำซ้อนกันเกือบ 50-60%

[3] ทาง World Bank เคยประเมินไว้เมื่อช่วงปี 2557




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest