Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 พฤศจิกายน 2562

Econ Digest

ส่งออกไปเวียดนามลด...หลายปัจจัยกดดัน เวียดนามนำเข้าสินค้าลดลง หลังพัฒนาศักยภาพการผลิต และยกระดับห่วงโซ่

คะแนนเฉลี่ย

​เวียดนามเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามได้แซงหน้ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังมาเลเซียตั้งแต่ปี 2560 อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้กลับหดตัวที่ร้อยละ (-)2.6 YoY หลังจากเติบโตถึงร้อยละ 11.9 ในปี 2561 โดยหากไม่นับรวมการส่งออกรถยนต์ที่ขยายตัวได้ดีจากปัจจัยเฉพาะตัว การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้จะหดตัวถึงร้อยละ (-)9.1 YoY ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามในไตรมาส 3/2562 หดตัวถึงร้อยละ (-)14.1 YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเติบโตติดลบครั้งแรกในรอบ 7 ปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามจะหดตัวที่ร้อยละ (-)0.8 ในปีนี้ และจะหดตัวมากขึ้นในปีหน้าที่ร้อยละ (-)2.0

ทั้งนี้ การทรุดตัวอย่างรุนแรงของการส่งออกไทยไปยังเวียดนามถูกฉุดรั้งด้วยเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อเป็นหลัก ซึ่งอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรุดตัวลงตามไปด้วย และส่งผลให้การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและปิโตรเคมีของไทยหดตัวลงอย่างมาก ซึ่งการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้นั้นนับเป็นร้อยละ 17 ของการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามทั้งหมด นอกจากนี้ แม้ว่าไทยและเวียดนามจะมีความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันไม่มากนัก แต่การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปยังเวียดนามได้รับผลกระทบอย่างมากจากอุปสงค์โลกที่อ่อนแรงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากนี้ สงครามการค้าส่งผลให้การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของจีน หดตัวลงอย่างมาก และส่งผลให้จีนเข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ สินค้าไทยหลายรายการไม่สามารถแข่งขันทางราคากับสินค้าจีนได้ จึงทำให้เวียดนามนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง และนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทรุดตัวลงของการส่งออกไทยไปยังเวียดนามจะเกิดจากปัจจัยชั่วคราวข้างต้นเป็นหลัก แต่การชะลอลงของการส่งออกสินค้าบางรายการเกิดจากปัจจัยด้านโครงสร้างที่ไม่สนับสนุนอีกด้วย โดยเวียดนามมีศักยภาพในการผลิตภายในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เวียดนามมีแนวโน้มพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศลดลง ทั้งนี้ เวียดนามมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนค่าแรงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีตลาดขนาดใหญ่และมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานและวัยเด็กในระดับสูง ขณะที่ เวียดนามสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิต และยกระดับห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศให้สูงขึ้น (Moving up the value chain) ส่งผลให้เวียดนามมีความน่าดึงดูดในการเข้ามาตั้งฐานการผลิต ขณะที่ ไทยนั้นไม่สามารถแข่งขันด้านค่าแรงกับเวียดนามได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังเวียดนามมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีการตั้งฐานการผลิตในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สงครามการค้ายังเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปทานภายในประเทศเวียดนามนั้นเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบให้ความต้องการสินค้านำเข้าของเวียดนามนั้นลดลง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามมีแนวโน้มจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยจะหวังพึ่งแต่การส่งออกรถยนต์ที่ยังคงเติบโตได้ดีจากปัจจัยเฉพาะตัวก็คงไม่ได้ ส่งผลให้ไทยไม่สามารถพึ่งพาตลาดเวียดนามได้อีกต่อไป

กล่าวโดยสรุป การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยชั่วคราวที่เกิดจากอุปสงค์โลกที่อ่อนแรงลง ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจัยชั่วคราวจากสงครามการค้าจะหายไป แต่ด้วยปัญหาด้านโครงสร้างที่ส่งผลให้อุปทานภายในประเทศเวียดนามนั้นสูงขึ้น การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามมีแนวโน้มที่จะชะลอลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในเวียดนาม แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศคู่ค้าของไทย โดยไทยมีแนวโน้มจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องปรับตัว โดยไทยควรมุ่งเน้นยกระดับตนเองและเพิ่มศักยภาพการผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประกอบกับควรลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้าเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหวสูง เพื่อส่งเสริมให้การส่งออกของไทยยังคงพอเติบโตไปได้ในอนาคต




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest