Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กรกฎาคม 2562

Econ Digest

สมานรอยร้าว สหรัฐฯ-จีน แล้วจริงหรือ?

คะแนนเฉลี่ย

​​​

นับว่าเวที G20 เป็นตัวกลางสำคัญที่ช่วยสมานรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯและจีนให้หันหน้ากลับมาเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาสงครามการค้ากันอีกครั้ง จนมีสัญญาณบวกที่ทั้งคู่จะระงับการตอบโต้ทางการค้าโดยสหรัฐฯ ยังไม่ยกระดับการเก็บภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ และพร้อมจะเดินหน้าเข้าสู่เส้นทางการเจรจาหาทางออกร่วมกันนับจากนี้ไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้งคู่มีท่าทีประนีประนอม แม้ว่าผลลัพท์ของเรื่องนี้คงยากจะเดาได้ว่าจะออกมาตามที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ บทสรุปของเรื่องราวสงครามการค้าที่เกี่ยวโยงถึงการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก และขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะยอมปรับตัวตามข้อเรียกร้องที่ซับซ้อนและยังเป็นเรื่องที่ท้าทายจุดยืนของผู้นำทั้งสองประเทศในการยอมรับเงื่อนไขในทุกข้อของคู่กรณีเพื่อยุติสงครามการค้า ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของจีนนั้นก็เพื่อต้องการให้ทั้งคู่ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์เดิมระหว่างประเทศภายใต้กฎเกณฑ์การค้าโลกที่ทุกคนต่างก็ยอมรับ รวมทั้งให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีและการคว่ำบาตรธุรกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ข้อเรียกร้องจากฝั่งสหรัฐฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวกำหนดจังหวะของเรื่องราวสงครามการค้าล้วนที่พุ่งเป้าไปยังการกดดันให้จีนเปิดตลาดสินค้าและบริการ รวมถึงให้จีนแก้ข้อกฎหมายในด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (IP) การกดดันให้จีนซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ รวมไปถึงประเด็นการคว่ำบาตรต่อธุรกิจเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนอย่างหัวเหว่ยที่หลายฝ่ายกังวล โดยล่าสุดก็เป็นสหรัฐฯ เองที่ยอมลดดีกรีความตึงเครียดดังกล่าวด้วยการยอมให้ธุรกิจสหรัฐฯ จำหน่ายสินค้าให้แก่จีนได้แต่ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าสหรัฐฯ เองก็พร้อมที่จะหาทางออกให้แก่สงครามการค้าครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

                อย่างไรก็ดี ท่าทีที่ผ่อนปรนมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มมีให้เห็น ก็นับเป็นสิ่งที่ดีต่อบรรยากาศเศรษฐกิจและการค้าโลกในห้วงเวลานี้ ซึ่งก็ยังต้องติดตามการเจรจาระหว่างสองประเทศในการหาทางออกร่วมกันศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระหว่างรอบทสรุปดังกล่าวก็ยังคงมีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะยกระดับสงครามหากเจรจาคืบหน้าล่าช้า โดยเดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่มูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งผลกระทบของการเก็บภาษีในรอบนี้คงมากกว่าการเก็บภาษีในรอบอื่นๆ เพราะเป็นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ สินค้าเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสมาร์ทวอร์ท ซึ่งจะยิ่งกดดันทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจจีน รวมทั้งส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปัจจุบันผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เก็บภาษีสินค้าจีนไปแล้วเป็นมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 และขนาดผลกระทบดังกล่าวจะขยับสูงขึ้น ซึ่งขนาดของผลกระทบนั้นขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะเริ่มใช้แผนการเก็บภาษีสินค้าจีนรอบที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงเวลาใด (แต่ผลกระทบจะไม่ถึงกรอบบนของประมาณการเดิมที่ 3,100 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมเพิ่มเติมที่ไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผ่านแรงกดดันสู่กำลังซื้อของตลาดส่งออกอื่นๆ ของไทย ยิ่งจะซ้ำเติมการส่งออกในภาพรวมของไทยขึ้นอีกและผลกระทบทั้งหมดอาจลากยาวและร้อนแรงต่อเนื่องไปยังในปี 2563

​​ ​  


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest