Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กันยายน 2563

Econ Digest

เก็บผลไม้ ด้วย หุ่นยนต์ AgriTech เปลี่ยนโฉมหน้าเกษตรไทย คืนทุนได้ใน 4 ปี

คะแนนเฉลี่ย
          ​   จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตผลไม้ที่สำคัญของโลก ถึงแม้ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญภาวะวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 แต่ภาพรวมการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทยในปีนี้ น่าจะสามารถประคองการเติบโตต่อไปได้ที่ราว 120,000-125,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 6.1-10.5% ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการอาหารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การผลักดันให้ภาคเกษตรใช้เทคโนโลยีมากขึ้นจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในขั้นการเก็บเกี่ยว อันเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานมากที่สุด ในการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพที่ดี ก่อนนำไปจำหน่าย 

              หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ นับเป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) ที่มีความแม่นยำสูง 
ตอบโจทย์ปัญหาในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านคุณภาพ จากความแม่นยำในการคาดการณ์ความเหมาะสมของผลไม้ในการเก็บเกี่ยว ลดความสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวเมื่อเทียบกับแรงงานคน โดยตลอดช่วงอายุการใช้งานของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ (10 ปี) จะสามารถสร้างรายรับส่วนเพิ่มได้ราว 5.9 ล้านบาท จากผลของราคาขายผลไม้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์ ไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคนมากนักราว 0.4 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน รวมราว 5.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 0.55 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะสามารถคืนทุนได้ในปีที่ 4 สะท้อนถึงประสิทธิภาพของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ที่น่าสนใจ

               ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้มาใช้ในกลุ่มผลไม้ที่มีมูลค่าสูง ที่เน้นคุณภาพเป็นหลักเป็นอันดับแรกก่อน เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วง กล้วย ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกหลักของไทย ตามมาด้วยผลไม้ในกลุ่มลักษณะเหมาเข่ง ที่ไม่เน้นคุณภาพมากนัก อย่างลำไย ลิ้นจี่ สัปปะรด เพราะส่วนใหญ่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป

                 หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะเป็นตัวช่วยยกระดับคุณภาพผลไม้ของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังเป็นการสร้างมูลค่า เพิ่มให้กับผลไม้ไทยได้อีกในเกรดสินค้าส่งออก อันจะเป็นการตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคที่เน้นด้านคุณภาพ และมาตรฐานการส่งออกที่มากขึ้น และยังสอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมของภาครัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest