Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2563

Econ Digest

โอกาส ธุรกิจบรรจุภัณฑ์...ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คะแนนเฉลี่ย

​         ท่ามกลางวิกฤติขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทร มากเป็นลำดับต้นของโลก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563  เราได้เห็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการรณรงค์และมีมาตรการจูงใจในการลดใช้พลาสติก อันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก้าวไปสู่เป้าหมาย Zero Single-use Plastic ในปี 2568 ที่ยังจำเป็นต้องอาศัยความสอดคล้องกัน ในการดำเนินการตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และผู้ประกอบการร้านค้า  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดขยะบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการบริโภคอย่างยั่งยืนในระยะยาว

         จากสถานการณ์ช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคใช้บริการ Food Delivery มากขึ้น ส่งผลให้ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติกว่า 15% จาก 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งกำหนดแนวทางการปรับตัว โดยมีปัจจัยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค เข้าถึงบรรจุภัณฑ์ทางเลือก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

        แม้ว่าในปี 2563 ธุรกิจจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนบางส่วนลง ด้วยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิมที่มีราคาต่ำกว่า แต่มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะยังเติบโตเฉลี่ย 25% คิดเป็นมูลค่าราว 2,100-2,400 ล้านบาท แม้ชะลอลงจากจากปีก่อนหน้า ที่เติบโตเกือบเท่าตัว แต่ก็ยังทำให้ส่วนแบ่งตลาดในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 1% ไปอยู่ที่ 2% ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม

         อย่างไรก็ดี ในระยะ 5 ปีข้างหน้า บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้ ภายใต้ปัจจัยด้านความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเงื่อนไขสนับสนุนด้านการผลิต เช่น การมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการ ความพร้อมด้านวัตถุดิบทดแทน รวมทั้งมาตรการของภาครัฐ ในการสร้างระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ไปแตะระดับ 13,000-16,000 ล้านบาท ในปี 2568

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest