Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มิถุนายน 2564

Econ Digest

อนาคต เส้นใยกัญชงไทย หลังปลดล็อก...จะไปได้ไกลแค่ไหน?

คะแนนเฉลี่ย

​​​ก่อนที่ไทยจะปลดล็อกกัญชง ไทยมีพื้นที่ปลูกกัญชงเพียง 47.5 ไร่[1] ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อการวิจัยเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงเป็นสำคัญ ซึ่งมีผู้ผลิตสำคัญคือกลุ่มชาวเขา ประกอบกับปริมาณการผลิตที่น้อย รูปแบบการผลิตจึงอยู่ในลักษณะสินค้าหัตถกรรมมากกว่าสินค้าอุตสาหกรรม โดยมีตลาดสำคัญคือตลาดในประเทศ ส่วนการส่งออกเส้นใยกัญชงยังน้อยมากประมาณ 100,000 บาท/ปี

​คำถามที่ตามมาก็คือ หลังจากภาครัฐปลดล็อกกัญชงแล้ว ตลาดและความต้องการเส้นใยกัญชงจะเพิ่มขึ้นตามด้วยหรือไม่ ถือว่าเป็นสิ่งที่ยังน่าขบคิด เพราะยังมีเงื่อนไขของการเติบโตที่สำคัญ 2 ประการคือ                   

 1) ผลตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากเส้นใย น้อยกว่าการใช้ประโยชน์ในรูปแบบการปลูกเพื่อเอา CBD และเอาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมี Final Products เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ยาและอาหารเสริม เครื่องสำอาง รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น การเพาะปลูกกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใยจึงอาจไม่จูงใจต่อผู้เพาะปลูก


2) การนำเส้นใยกัญชงไปใช้ยังมีจำกัดจากตลาดรองรับที่เฉพาะเจาะจง อีกทั้งกระบวนการแปรรูปยังมีความซับซ้อนสูง โดยเฉพาะหากนำไปใช้ในกลุ่ม Industrial Textiles ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเฉพาะที่สร้างคุณสมบัติของเส้นใยตามความต้องการอุตสาหกรรมปลายน้ำ และใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้น ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงอาจส่งผลต่อความสามารถด้านการแข่งขันและทำราคาได้ แม้จะมีจุดเด่นจากลักษณะเฉพาะของเส้นใยที่ให้ความแข็งแรงทนทาน ดูดซับความชื้นได้ดีและมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟฟ้า อีกทั้งการเป็นวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากระยะการเพาะปลูกที่ใช้เวลาสั้น แต่ให้ผลผลิตมากกว่าฝ้าย 2-3 เท่า และสามารถย่อยสลายด้วยกระบวนการทางธรรมชาติได้รวดเร็ว สอดรับกับเทรนด์บริโภคในอนาคตก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ การเติบโตของตลาดเส้นใยกัญชงไทย จึงยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มค่าในการลงทุน ผลตอบแทนและประการสำคัญก็คือ ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหากจะปรับใช้กัญชงเพื่อทดแทนวัตถุดิบเดิมในตลาด ยกตัวอย่างเช่น ฝ้าย จำเป็นที่เส้นใยกัญชงจะต้องมีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ อีกทั้งจะต้องมีความต้องการในอุตสาหกรรมนั้นรองรับ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือตลาดส่งออก นอกจากนี้ มองไปอีก 5 ปีข้างหน้าหลังการปลดล็อกให้มีการอนุญาตนำเข้าได้ เส้นใยกัญชงไทยมีแนวโน้มจะเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันด้านราคาที่มากขึ้นโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใยมากที่สุดในโลก (หรือ 50% ของพื้นที่ปลูกทั่วโลก) อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีในการแปรรูปเส้นใยกัญชงเพื่อให้ได้คุณภาพและคุณสมบัติที่หลากหลาย ซึ่งเอื้อต่อการทำราคาและให้ปริมาณการผลิตที่มากกว่า

​ดังนั้น ตลาดเส้นใยกัญชงไทย จะไปต่อได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับการหาตลาดรองรับและแผนการส่งเสริมการตลาดที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มสินค้าปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่าง Industrial Textiles อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปี 2564 ตลาดเส้นใยกัญชงในส่วนของวัตถุดิบ (Raw Material) จะมีมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท และน่าจะมีโอกาสเติบโตไปสู่ระดับ 13 ล้านบาทได้ภายในปี 2567



[1] จากสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest