Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 ธันวาคม 2563

Econ Digest

ดัชนี KR-ECI พ.ย.63 มาตรการภาครัฐ กระตุ้นการบริโภคของครัวเรือน หนุนดัชนีดีใกล้เคียงก่อนโควิด-19 ระบาด

คะแนนเฉลี่ย
            ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือน พ.ย. 2563 อยู่ที่ 41.0 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ 39.5 และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือน ม.ค. 2563 (ก่อนโควิด-19 ระบาด) ที่ 40.6 โดยครัวเรือนมีมุมมองดีขึ้นต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐฯ เช่น คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน  เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยหนุนให้ครัวเรือนมีอำนาจซื้อดีขึ้น  อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง มีเป้าหมายใช้จ่ายเต็มจำนวน (3,000 บาท) โดยส่วนใหญ่ตั้งใจนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีด้านอื่นๆ พบว่า ครัวเรือนมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น เกี่ยวกับระดับราคาสินค้า สอดคล้องกับการหดตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. (-0.41%) เนื่องจากราคาอาหารสด ปรับเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของภัยแล้ง และน้ำท่วม

             สำหรับดัชนีฯ ล่วงหน้า 3 เดือน ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจาก 40.1 ในเดือน ต.ค. 2563 มาอยู่ที่ 41.1 ในเดือนนี้ บ่งชี้ว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับภาวะการครองชีพในระยะข้างหน้า โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาระในการชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมหนี้ คาดว่าเกิดจากค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ดังนั้น มาตรการภาครัฐยังมีความจำเป็น ซึ่งล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบโครงการคนละครึ่งเฟส 2 โดยจะมีผู้ได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมอีก 5 ล้านคน และเพิ่มวงเงินเป็น 3,500 บาท ระยะเวลา ม.ค.-เม.ย. 2564  ซึ่งจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างบรรยากาศจับจ่ายใช้สอยได้จนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2564

                ​อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาเพิ่มเติมนั้น ยังเป็นเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลายประการ ทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการระบาดอีกระลอกของโควิด-19 แม้จะมีข่าวดีในเรื่องของวัคซีน แต่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้นในต่างประเทศ ทำให้แนวโน้มการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ยังมีโอกาสเป็นไปได้น้อย ส่งผลให้ตลาดแรงงาน ยังมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาเรื่องการเมืองอาจมีแนวโน้มยืดเยื้อ


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest