Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

ถอดรหัสผลิตภัณฑ์การออม... หลัง กนง. คงดอกเบี้ยต่ำ ออมแบบไหน ใช่ สำหรับคุณ

คะแนนเฉลี่ย
​​​ผลการประชุมนโยบายการเงินของไทยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยกนง. “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ 0.50% ตามเดิม พร้อมกับส่งสัญญาณว่า จะเก็บกระสุนในการลดดอกเบี้ยไว้ใช้ในเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และยังต้องติดตามผลกระทบของการระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่ที่จะกดดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้  

มองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตาม ก็คือ ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ความเพียงพอและความต่อเนื่องของแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ และระดับผลกระทบของโควิดที่สะท้อนผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจจริงที่จะทยอยออกมาหลังจากนี้ ... ทั้งนี้หากสัญญาณความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังไม่จางลงไป กนง. ก็น่าจะมีแนวโน้มยืนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี และ/หรืออาจจำเป็นต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่จะด้วยเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ นั้น คงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและขนาดขอบเขตของปัญหา 

ย้อนกลับมามองในมุมของผู้ที่ต้องการออมเงิน ในช่วงที่สัญญาณดอกเบี้ยยังคงต่ำต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ต่างชะลอการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ ทำให้แคมเปญตัวเลือกเงินฝากดังกล่าวมีค่อนข้างน้อยและให้ดอกเบี้ยไม่แตกต่างไปจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไประยะ 3 เดือน-1 ปี (อยู่ในช่วง 0.375-1.00%) มากนัก...อย่างไรก็ดีในระยะหลังๆ สีสันของตลาดผลิตภัณฑ์เงินฝากเปลี่ยนไปเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก “ออมทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้ออมมากขึ้น โดยชูจุดเด่นตรงที่ที่มีความคล่องตัวสูงในการฝาก-ถอน และทำธุรกรรมทางการเงินได้เหมือนออมทรัพย์ทั่วไป แต่สามารถเปิดบัญชีได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของแต่ละธนาคาร และที่สำคัญให้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 1.10-2.00% (ภายใต้วงเงินที่ต้องฝากตามเงื่อนไขที่กำหนด) ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.125-0.25% 

สำหรับผู้ออมรายย่อยที่กำลังหาตัวเลือกที่มีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าเงินฝากแต่ความเสี่ยงต่ำ คงต้องยืดระยะเวลาการลงทุนออกไป ซึ่งต้องประเมินควบคู่กับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินด้วย โดยหากยาวออกไปเป็น 3-5 ปีและให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ อาจเลือกออมผ่านพันธบัตรออมทรัพย์ (เปิดเสนอขายเป็นช่วงตามแผนระดมทุนของภาครัฐ) และหากรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น ตัวเลือกคงเป็นหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีเรทติ้งดี (แต่ความเสี่ยงจะสูงกว่าพันธบัตรัฐบาลและเงินฝาก) อย่างไรก็ดีการเลือกลงทุนในหุ้นกู้อาจต้องศึกษารายละเอียดจากหนังสือชี้ชวน รวมถึงหาข้อมูลของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจมีผลกระทบต่อกระแสรายได้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้และการชำระคืนหนี้ได้


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest