Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มิถุนายน 2564

Econ Digest

ทางเลือกในยุคฝืดเคือง กู้ประกันมาใช้จ่าย...ศึกษาเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจ

คะแนนเฉลี่ย
​​                      ประกันชีวิตเป็นการออมระยะยาวที่ให้ประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ผู้ซื้อประกันชีวิตควรมีแผนการเก็บออมประจำปีเพื่อรักษาความต่อเนื่องของกรมธรรม์ให้เป็นหลักประกันเงินออมในยามที่เรามุ่งหวังต้องการ แต่ในภาวะที่รายได้ไม่เป็นใจและส่งผลให้มีความจำเป็นต้องหาสภาพคล่องเพิ่มเติม มาโปะรายจ่ายประจำวันนั้น คงทำให้ผู้ถือกรมธรรม์ต้องย้อนกลับมานั่งคิดเมื่อรอบการจ่ายเบี้ยประกันกำลังจะมาถึงว่า จะตัดสินใจอย่างไรดี ระหว่างการเวนคืนกรมธรรม์ (ยกเลิกสัญญา) เพื่อลดรายจ่ายในส่วนนี้และนำเงินออกมาใช้ หรือจะเลือกการวิธีกู้เงินจากกรมธรรม์มาแก้ปัญหา ซึ่งคงต้องบอกว่า ไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือกตามความเหมาะสมของผู้เอาประกันแต่ละราย 

                   ในกรณีที่ขาดสภาพคล่อง-รายรับสะดุด ผู้ถือกรมธรรม์คงต้องประเมินว่า ภาวะผันผวนของรายได้-หมุนเงินไม่ทันนี้เป็นสถานการณ์ชั่วคราว หรือ ยาวนาน โดยหากเป็นภาวะชั่วคราวและยังต้องการถือกรมธรรม์นั้นต่อ เราสามารถขอกู้เงินจากกรมธรรม์ได้ ในกรณีที่มีมูลค่าเงินสดตามกรมธรรม์ ซึ่งเกิดจากการสะสมไว้ตามจำนวนปีที่นำส่งเบี้ยมาแล้ว และจำนวนเบี้ยที่จ่ายแล้วเทียบกับทุนประกัน โดยสามารถดูได้จากตารางท้ายเล่มกรมธรรม์ในช่องที่แสดงเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในแต่ละปีกรมธรรม์จนครบสัญญา ซึ่งตัวเลขที่แสดงนั้นเป็นยอดที่คำนวณจากทุนประกันทุก 1,000 บาท ดังนั้น ถ้าทุนประกัน 100,000 บาท ให้นำตัวเลขในช่องค่าเวนคืนตามจำนวนปีที่จ่ายเบี้ยไปแล้วมาคูณด้วย 100 จะได้มูลค่าเงินสดปัจจุบันของกรมธรรม์นั้น หรือถ้าไม่มั่นใจ อาจโทรสอบถามจากตัวแทนหรือศูนย์บริการข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์ของบริษัทประกันชีวิต


แต่ในกรณีที่สถานการณ์โควิด 19 ทำให้เราติดกับดักลึก และต้องหาทางออกสำหรับระยะยาว เราคงต้องเลือกว่า ยังอยากถือกรมธรรม์นั้นต่อเผื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันจะได้มีเงินก้อนหนึ่งให้คนที่รัก หรือจะยกเลิกสัญญา โดยหากผู้ถือกรมธรรม์ต้องการหยุดจ่ายเบี้ย ก็จะมีทางเลือก 3 แนวทาง คือ
(1)  ใช้มูลค่าเงินสำเร็จ: เหมาะกับผู้ที่ไม่รีบร้อนใช้เงิน โดยสัญญายังคงมีระยะเวลาเท่าเดิม แต่ลดทุนประกันลง (ตามการหยุดจ่าย) และมีเงินคืนบางส่วนเมื่อครบสัญญา 
(2) ใช้สิทธิ์ขยายเวลาคุ้มครอง: เหมาะกับผู้ที่ต้องการคงความคุ้มครองไว้ โดยยอมลดระยะเวลาสัญญาลง และอาจมีหรือไม่มีเงินคืนเมื่อครบสัญญาขึ้นกับมูลค่าเงินสดที่เหลือ
(3) เวนคืนมูลค่าเงินสด: เหมาะกับผู้ที่ต้องการเงินก้อนทันที โดยยอมยกเลิกความคุ้มครองและปิดกรมธรรม์ทันที 

สุดท้ายนี้ เมื่อสถานะทางการเงินเริ่มไม่คล่องตัว ผู้ถือกรมธรรม์ควรต้องประเมินและเปรียบเทียบทางเลือกที่ดีที่สุดของตนเองว่าจะเวนคืนกรมธรรม์ (ยกเลิกสัญญา) เพื่อนำเงินออกมาใช้ หรือสามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้าจากการกู้ประกัน รวมถึงทางเลือกการกู้ยืมและการแก้หนี้จากสถาบันการเงิน ซึ่งแต่ละทางเลือกล้วนมีข้อดี-เสีย และความเหมาะสมกับเงื่อนไขเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกัน ลองศึกษาทางเลือกเหล่านี้เปรียบเทียบกันเพื่อเปิดทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ 



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest