Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 พฤศจิกายน 2564

Econ Digest

Meta Skill ทัศนคติที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

คะแนนเฉลี่ย

โควิด-19 เข้ามาเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในภาคธุรกิจรวมไปถึงการจ้างงาน

ก่อนเกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจต่าง ๆ ได้เผชิญกับการเข้ามาของเทคโนโลยี (Technology Disruption) จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อตอบรับกับการเข้ามาของเทคโนโลยี (Digital Transformation) อยู่แล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น  มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมในหลากหลายด้าน เช่น องค์กรเริ่มมีนโยบายการทำงานที่บ้าน (Work from home) หรือการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องเริ่มปรับตัวรวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมาจะเห็นว่าภาคธุรกิจเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ระบบ Cloud  โดยรายงานของ World Economic Forum ในปี 2563 ระบุว่ามีภาคธุรกิจถึง 84.4% ที่เร่งปรับกระบวนการทำงานในรูปแบบดิจิทัล (Accelerate the digitalization of work processes) ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ของภาคธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน “แรงงาน” ด้วย 

ปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กจบใหม่ขาดทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน

ก่อนการเกิดระบาดของโควิด-19 ตลาดแรงงานของไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ต่อเนื่อง เช่นการเรียนจบไม่ตรงตามสายที่ต้องการของตลาดแรงงาน การระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาตอกย้ำให้ปัญหาดังกล่าวมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น ในไตรมาส 2/2564 ข้อมูลสำรวจแรงงานพบว่า จำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 7.3 แสนคน แม้ปรับลดลงจากไตรมาสแรกของปีแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ แม้ในปีนี้จะไม่ได้มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเหมือนในปีก่อน แต่ “แรงงานในภาคบริการและการค้า” เผชิญกับภาวะการว่างงานฉับพลันจำนวนมาก ในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 2.78 แสนคน ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงล็อกดาวน์ในไตรมาส 2/2563 ที่ 2.77 แสนคน ขณะที่ “กลุ่มเด็กจบใหม่”  ยังมีแนวโน้มเผชิญกับภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 2/2564 มีผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 2.32 แสนคนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2564 ที่ 2.11 แสนคน และผู้ว่างงานที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานอยู่ที่ 2.93 แสนคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่ 2.45 แสนคน ซึ่งกลุ่มนี้อาจกลายเป็นแรงงานที่ขาดทักษะและประสบการณ์ทำงานในอนาคต แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่ผลกระทบในกลุ่มผู้ที่ขาดทักษะและประสบการณ์ทำงานจะยังเป็นบาดแผลสำคัญของตลาดแรงงานต่อไป เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าสถานการณ์ทางด้านแรงงานยังมีความเปราะบางสูง แม้ว่าในเดือนก.ย.ที่ผ่านมาจะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่าง ๆ รวมถึงจะมีการเปิดประเทศในระยะที่สอง แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างจะยังเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องจับตามองและควรได้รับการแก้ไขต่อไป 

แรงงานว่างงานจะไม่สามารถกลับสู่ตลาดแรงงานได้ทั้งหมด โดยเฉพาะแรงงานขาดทักษะ  หลังภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรการควบคุมการระบาด เช่น การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ การสั่งอาหารออนไลน์ เป็นต้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่าน platform ต่าง ๆ ผลสำรวจของกระทรวงพาณิชย์  (ม.ค.-มี.ค.64) ระบุว่า ผู้บริโภคในไทยซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 75,000 ล้านบาทต่อเดือนหรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.25 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 45.5% เมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อครั้งก่อน บ่งชี้ว่าการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กำลังมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดยังมีความรุนแรง นอกจากนี้ ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมก็เริ่มมีการปรับตัวเช่นเดียวกันไม่เว้นแม้แต่ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่มี “Telemedicine” โดยเป็นการให้บริการทางการแพทย์ผ่าน VDO Conference ซึ่งจะไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ในภาคอุตสาหกรรมมีการนำ “หุ่นยนต์” หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามามากขึ้น  จะเห็นได้ว่ารูปแบบธุรกิจต่าง ๆ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ทักษะความรู้ด้าน “ดิจิทัล” เข้ามามีความสำคัญมากขึ้น การปรับเปลี่ยนลักษณะของธุรกิจตามพฤติกรรมผู้บริโภคจะไม่ได้เกิดเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดเท่านั้นแต่พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะกลายเป็น “ความปกติใหม่ (New normal) ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ ซึ่งอาจทำให้ความต้องการตำแหน่งงานเดิมที่เคยมีอยู่ลดลงหรือหายไป โดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการหรือแรงงานขาดทักษะ เช่น แคชเชียร์ หรือพนักงานเสิร์ฟ เป็นต้น ขณะเดียวกันอาจมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในกระบวนการทำงานทำให้ความต้องการแรงงานใหม่ไม่พอดึงแรงงานว่างงานบวกกับคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้น มีแนวโน้มสูงที่แรงงานกว่า 7 แสนคนที่ตกเป็นผู้ว่างงานอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในตำแหน่งงานเดิมและตำแหน่งงานใหม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปจึงมีความสำคัญเพื่อการทำงานในอนาคต

การ Upskill/Reskill เป็นสิ่งสำคัญเพื่อความอยู่รอดในตลาดแรงงาน ขณะที่“ทักษะทางด้านดิจิทัล” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น

ในอนาคตข้างหน้าแรงงานที่ไม่มีทักษะจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ง่าย ดังนั้นแรงงานควรเตรียมความพร้อม Upskill และ Reskill เพื่อที่จะสามารถไปอยู่ในสายงานที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตได้  โดยทักษะสำคัญที่ต้องมีคือ “ทักษะทางด้านดิจิทัล” เนื่องจากเทคโนโลยีจะเป็นส่วนที่สำคัญของธุรกิจ ในรายงานของ World Economic Forum (WEF) ในปี 2563 บ่งชี้ว่ามีเพียง 54.9% ของแรงงานไทยที่มีองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัล (อันดับที่ 89 จาก 140 ประเทศทั่วโลก) ดังนั้น เพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดแรงงานได้จึงควรเร่งสร้างทักษะเหล่านี้ ทางภาครัฐควรเข้ามามีส่วนช่วยในการ Upskill/Reskill ให้กับแรงงานได้โดยปัจจุบันมีสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DiSDA) ที่จะมีการจัดอบรมสัมนาหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคปัจจุบัน 

​ประสบการณ์และทัศนคติที่ดีต่อการทำงานยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงาน

แม้ว่าทักษะทางด้านดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในโลกของการทำงาน ทำให้การ Upskill/Reskill เป็นสิ่งที่สำคัญต่อทั้งองค์กรและแรงงาน โดยวิธีการ Upskill/Reskill นั้นอาจแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ แรงงานบางส่วนที่ทำงานมาเป็นระยะเวลานานอาจต้องใช้วิธีและรูปแบบที่แตกต่างกันกับแรงงานที่พอมีทักษะทางด้านดิจิทัลอยู่บ้างซึ่งจุดนี้ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจและฝ่าฝันไปให้ได้ อย่างไรก็ตาม “ประสบการณ์” และ “ทัศนคติ” ต่อการทำงานยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานโดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว นอกจากนี้ แม้ว่าบางตำแหน่งงานจะมี “เทคโนโลยี” เข้ามาทดแทนได้ แต่งานบางอย่างยังคงต้องอาศัย “ประสบการณ์” ในการจัดการ เช่น ทักษะการสื่อสาร ความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนอกจากทักษะทางด้านดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญแล้ว ทักษะอื่น ๆ เช่น ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  ความสามารถในการปฎิบัติงานในหน้าที่ที่กำหนดของพนักงานในระดับปฏิบัติการ หรือความละเอียดรอบคอบ ระเบียบวินัยในการปฎิบัติงาน ก็ยังเป็นทักษะพื้นฐานที่ต้องมีและเป็นสิ่งที่สำคัญต่อองค์กรควบคู่ไปกับทักษะทางด้านดิจิทัล

ดังนั้นโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว “Meta Skill” จะเป็นอีกทักษะที่สำคัญที่ควรต้องมีในยุคปัจจุบัน

ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปตามโลกธุรกิจและพฤติกรรมของลูกค้า โดยปกติแรงงานจะต้องมีการพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดแรงงานได้มาต่อเนื่องแต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเปลี่ยนแปลงเร็วรวมถึงมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดอีกทักษะที่สำคัญ นอกเหนือไปจาก “Soft Skill (ทักษะทางสังคม) / Hard Skill (ทักษะด้านความรู้) ” นั้นคือ “Meta Skill” ซึ่งเป็นทักษะใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เป็นแนวคิดที่ว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยต้องมีความสามารถมีทัศนคติที่ดีพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นอีกทักษะที่เพิ่มขึ้นมาในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 
สำหรับแรงงานที่มีทักษะและความสามารถหลากหลายได้ มีความพร้อมในการปรับตัว ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤตใดก็จะยังสามารถกลับสู่ตลาดแรงงานได้เสมอ ดังนั้นการเรียนรู้เข้าใจตลาดแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest