Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กันยายน 2563

Econ Digest

สำรวจตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปี 2563 กำลังซื้อชะลอตัวลงรุนแรง กระทบต่อลูกค้าขนมในทุกกลุ่ม

คะแนนเฉลี่ย
              เทศกาลไหว้พระจันทร์ปี 2563 ตรงกับวันที่ 1 ต.ค. นับว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล โดยเฉพาะขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งปกติตลาดมีการเติบโตทุกปี แต่สำหรับปีนี้ เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อกำลังซื้อของคนในประเทศที่ชะลอตัวลงรุนแรง และกระทบต่อลูกค้าขนมไหว้พระจันทร์ในทุกกลุ่ม  แม้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จะยังคงผลิตขนมเช่นปีก่อนๆ เพื่อรักษาฐานกลุ่มลูกค้าของตนเอง ภายใต้ช่องทางจัดจำหน่ายที่มี แต่ก็ได้ปรับลดกิจกรรมการตลาดลง ไม่คึกคักเช่นปีที่ผ่านมา

              ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2563 พบว่า แม้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ ยังคงให้ความสนใจเข้าร่วมเทศกาล แต่ก็มีสัดส่วนลดลงจากปีก่อน จาก 61.4% เหลือ 50.7% เมื่อดูในด้านพฤติกรรมการซื้อขนมของกลุ่มที่เข้าร่วม พบว่า ส่วนใหญ่ 71.2% ยังคงเหมือนเดิม ขณะที่อีก 28.8% จะปรับพฤติกรรมการซื้อ ซึ่งในกลุ่มที่ปรับพฤติกรรมการซื้อนี้ เลือกที่จะปรับลดจำนวนการซื้อขนม ในสัดส่วนที่สูงถึง 77.6% และเปลี่ยนไปซื้อขนมที่มีราคาถูกลง 19.0% จากสภาพแวดล้อมการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า มูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2563 จะอยู่ที่ราว 800 ล้านบาท หดตัว 15.8% โดยน้ำหนักของการหดตัวมากสุด อยู่ที่จำนวนผู้ซื้อและจำนวนชิ้นที่ซื้อที่ลดลง

              ​การทำตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงนี้จึงไม่ง่าย เพราะนอกจากต้องรับมือทั้งกำลังซื้อที่ลดลง ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง จากผู้ประกอบการที่ครองตลาดอยู่เดิม ที่พยายามรักษาฐานของตนเอง รวมถึงผู้ประกอบการที่ยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มาก แต่พยายามเพิ่มบทบาทในตลาดมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากความภักดีต่อสินค้าที่ปรับลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป  ด้วยการใช้ กลยุทธ์สร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ เช่น การสร้างความแตกต่างของไส้ขนม ให้ตอบรับกับเทรนด์ของคนวัยทำงานรุ่นใหม่ ร่วมกับกลยุทธ์การตลาดเดิม เช่น ราคา โปรโมชั่น การแจกสินค้าทดลอง รวมไปถึงกลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ต้องผสมผสานออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อการเข้าถึงลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest