Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มิถุนายน 2563

Econ Digest

New e-Commerce Next Hour Delivery สั่งชั่วโมงนี้ ส่งชั่วโมงถัดไป

คะแนนเฉลี่ย

​สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลักดันผู้บริโภคชาวไทยเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น แทนที่การออกไปจับจ่ายสินค้าตามสถานที่สาธารณะเพื่อคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นอกเหนือจากการแพร่ระบาดของโควิด ที่ส่งผลเชิงบวกให้แก่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้ว ความคาดหวังต่อระยะเวลาในการขนส่งสินค้าก็สั้นลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากในช่วงก่อนโควิด หากผู้บริโภคต้องการสินค้าในทันที ก็สามารถออกไปซื้อสินค้าด้วยตนเองได้ แต่ในช่วงโควิดซึ่งต้องซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ผู้บริโภคที่ไม่อยากรอก็จะหาช่องทางที่ได้รับสินค้าเร็วที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว และส่งผลให้รูปแบบของความคาดหวังเปลี่ยนไป โดยจากเดิมที่ผู้บริโภคคาดว่าจะได้รับสินค้าภายในวันถัดไป (Next-day delivery) ปัจจุบันผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสินค้าที่สั่งภายในชั่วโมงถัดไป (Next-hour delivery) โดยเฉพาะอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค

ภายใต้แนวโน้มความคาดหวังดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็น New normal หลังโควิด ดังนั้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจำเป็นต้องปรับปรุงและยกระดับการดำเนินงานในแต่ละจุดของห่วงโซ่คุณค่าของตนเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว โดยนอกเหนือจากการเพิ่มเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้า และพัฒนาระบบขนส่งสินค้าถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายแล้ว การบริหารจัดการภายในโกดังสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการตอบโจทย์เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยก​สิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ E-marketplace และผู้ประกอบการค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ซึ่งมักต้องบริหารโกดังสินค้าขนาดใหญ่ ควรนำระบบโกดังสินค้าอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดระยะเวลาการตอบสนองคำสั่งซื้อจากลูกค้า แต่ยังช่วยป้องกันปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ผู้ประกอบการประสบในปัจจุบัน จากการที่แรงงานรุ่นใหม่มองว่างานในโกดังสินค้าเป็นงานยากลำบาก สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้แรงงานหดตัวกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปี ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับโกดังสินค้าอัตโนมัติ พบว่า ระบบชั้นวางสินค้าอัตโนมัติ (AS/RS) มักเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันโดยเฉพาะในโรงงานผลิตสินค้า อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่ต้องกำหนดโครงสร้างชั้นวางและสายพานลำเลียงสินค้าภายในโกดังแบบเฉพาะเจาะจงและไม่สามารถขยายหรือเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ทำให้ขาดความยืดหยุ่นที่จะใช้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงความนิยมในตัวสินค้าแต่ละประเภทสูง เพื่อตอบสนองความต้องการในจุดนี้ เทคโนโลยีรถขนส่งอัตโนมัติ (Automatic Guided Vehicle: AGV) จึงได้เข้ามาเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยใช้หุ่นยนต์รถบรรทุกที่สามารถวิ่งค้นหาและหยิบสินค้าได้เองโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นสูงในการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนของชั้นวางสินค้า โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในแง่ของการลดระยะเวลาการค้นหาและหยิบสินค้าจากชั้นวางได้กว่าร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน ในขณะเดียวกันก็สามารถทดแทนแรงงานคนได้ราว 3.4 คนต่อการใช้งานรถ AGV หนึ่งคันในระยะเวลาทำงานในโกดังสินค้าหนึ่งวัน ทั้งนี้ ในประเทศไทยเริ่มมีผู้ประก​อบการในอุตสาหกรรมขนส่งเริ่มนำระบบ AGV เข้ามาใช้งาน ประกอบกับมีผู้จัดจำหน่าย AGV โดยเฉพาะเกิดขึ้นหลายแห่ง รวมไปถึงเริ่มมีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซวางแผนลงทุนเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้เทคโนโลยี AGV น่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคตอันใกล้



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest