Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 ตุลาคม 2564

Econ Digest

1 พ.ย. ดีเดย์ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กักตัว! ก้าวสำคัญแผนพลิกฟื้นการท่องเที่ยว

คะแนนเฉลี่ย

1 พ.ย. 64 ไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสและตรวจหาเชื้อโควิดทั้งก่อนและเมื่อมาถึงไทย โดยการกำหนดกลุ่มประเทศยังต้องรอพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวแสดงถึงความพยายามของทุกภาคส่วนที่จะพลิกฟื้นการท่องเที่ยวให้เดินหน้าต่อได้ โดยช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีคาบเกี่ยวช่วงต้นปีถัดไป เป็นฤดูที่ชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยมากที่สุด แต่จากโควิดในประเทศที่แม้ว่าจะนิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ กอปรกับสถานการณ์โควิดและนโยบายการเดินทางออกนอกประเทศของประเทศต้นทาง อาทิ กำหนดให้มีการกักตัวหลังเดินทางกลับ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จำนวนชาวต่างชาติที่จะมาเที่ยวไทยในช่วง พ.ย. - ธ.ค. 64 อาจเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะเห็นผลที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายเดือนธ.ค. ทั้งนี้ การเปิดประเทศน่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ เพิ่มขึ้นราว 64% เมื่อเทียบกับไม่มีมาตรการ ซึ่งจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 เพิ่มขี้นจากคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ราว 1.8 แสนคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยชัดเจนขึ้นในปี 2565

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาน่าจะมาจากสหรัฐฯ ยุโรป บางประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งนอกจากมาจากประเทศที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขของทางการแล้ว น่าจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยตั้งแต่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV จนมาถึง Phuket Sandbox รวมทั้งเป็นกลุ่มที่สนใจจะมาเที่ยวไทย ซึ่งสะท้อนผ่านเครื่องชี้การค้นหาโรงแรมและที่พักผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยจากข้อมูลของกูเกิ้ล Destination Insight (Travel Insights with Google) พบว่า ตั้งแต่เดือนก.ย. ถึงต้นเดือนต.ค. 2564 มีภาพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยประเทศที่มีการค้นหาโรงแรมและที่พักในไทยสูง ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย สหราชอาณาจักรและเยอรมัน ขณะโรงแรมและที่พักในที่พื้นที่ที่มีการค้นหาสูงสุด คือ กรุงเทพฯ ป่าตอง (ภูเก็ต) พัทยา (ชลบุรี) เกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) กะรน (ภูเก็ต)  

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest