Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กรกฎาคม 2564

Econ Digest

คาด...ส่งออก PCB ปี 64 โตกว่า 20%

คะแนนเฉลี่ย
​มูลค่าส่งออก PCB (แผ่นวงจรพิมพ์) ของไทยช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 อยู่ที่ 692.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โต 42.4% (YoY) แหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายที่ผู้ผลิต PCB ไทยส่งออกไปกว่า 80% อยู่ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ สารสนเทศและสื่อสาร (ICT) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (CE) และอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (AE) ขณะที่อีกราว 20% อยู่ในอุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการทหาร 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ก​ารส่งออก PCB ปี 2564 จะขยายตัวราว 20.1%-24.1% มูลค่าส่งออกราว 1,573-1,626 ล้านดอลลาร์ฯ นำโดยความต้องการสินค้ากลุ่ม ICT ซึ่งขับเคลื่อนโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G และความต้องการอุปกรณ์สื่อสาร 5G ทั้งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์โครงข่าย ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาช่วยหนุนความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค อาทิ อุปกรณ์ Smart devices ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะและนาฬิกาอัจฉริยะ และช่วยพลิกฟื้นยอดขายยานยนต์ให้กลับมาเป็นบวก ถึงแม้การผลิตยานยนต์บางส่วนอาจยังเผชิญแรงกดดันจากการขาดแคลนชิปทั่วโลกแต่คาดว่าจะทยอยคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังปี 2564 นอกจากนี้ ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งแบบพกติดตามตัวเพื่อวัดสัญญาณชีพ และแบบวินิจฉัยทางการแพทย์ ยังคงโตได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง

การฟื้นตัวของการส่งออก PCB ไทยปี 2564 ยังเผชิญความเสี่ยงจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะต้นทุนการดำเนินงานที่ยังผันผวน ทั้งราคาทองแดงที่สูง ต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศที่ยังอาจยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ขณะที่ภาวะชิปตึงตัวอาจจะยังกดดันอุปทานของ PCB ได้บางช่วง โจทย์ระยะข้างหน้าของการผลิต PCB ไทยคือ ตลาดส่งออก PCB ของไทยอาจเปลี่ยนแปลงไปตามการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ที่กำลังเปลี่ยนภาพห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะการกระจายการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศที่อยู่ใกล้เคียงสำหรับการผลิต PCB ที่ไม่ซับซ้อนมากจนอาจทำให้ประเทศที่เดิมเป็นคู่ค้าอาจก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม ดังนั้น ผู้ผลิต PCB สัญชาติไทยต้องพัฒนา PCB ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่า และสอดรับกับเทรนด์การผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะที่จะมีขนาดเล็กลงในอนาคต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest