Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

15 พ.ย. 63 15 ประเทศร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP กรอบการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก

คะแนนเฉลี่ย
​ในที่สุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับ Plus 5 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สามารถบรรลุการเจรจาร่วมกัน ในวันที่ 15 พ.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้รัฐสภาของชาติต่างๆ ให้สัตยาบัน RCEP จึงจะ
มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก RCEP นี้มีไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ไทยเปิดเสรีการค้าไปแล้วกับประเทศ Plus 5 แต่ไทยจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากกรณี Plus 5 เปิดเสรีระหว่างกันเป็นครั้งแรก ทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตของไทย ได้อานิสงส์เพิ่มเติม อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เซมิคอนดักเตอร์และ ICs อีกทั้ง RCEP ยังเอื้อให้ไทยสามารถเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตของเอเชียได้อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

แม้อาเซียนจะมี FTA กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อยู่แล้ว แต่การรวมเป็น RCEP โดยมีเป้าหมายการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ให้มากที่สุด ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความน่าสนใจให้ RCEP มีความทัดเทียมกับ CPTPP แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองความตกลงไม่สามารถทดแทนกันได้ โดยเฉพาะการ​เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่ RCEP เน้นหนักไปยังภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ CPTPP มีความน่าสนใจตรงที่ สามารถเชื่อมห่วงโซ่การผลิตกับในภูมิภาคอเมริกาได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า FTA เป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติเองก็ให้ความสำคัญในการวางแผนขยายธุรกิจด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเลือกว่า จะปรับตัวให้สอดรับกับมาตรฐานของความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง โดยเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP หรือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษ หรือ จะปรับตัวให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ แม้ไม่มี FTA กับชาติตะวันตก ซึ่งไม่ว่าจะทางไหน ไทยก็ต้องปรับตัว เพราะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งภาครัฐบาลไทยต้องเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest