Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 ธันวาคม 2563

Econ Digest

ท่องเที่ยวสมุทรสาครจุก โควิดระลอกใหม่...ทำเสียรายได้ 180-200 ล้านบาท ใน 1 เดือน

คะแนนเฉลี่ย
​            การท่องเที่ยวในจ.สมุทรสาครต้องกลับมาหยุดชะงักอีกครั้งเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากในพื้นที่ จนนำมาซึ่งความจำเป็นที่ทางการต้องใช้มาตรการในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ อย่างการใช้มาตรการปิดเฉพาะพื้นที่ การขอให้สถานบริการร้านค้า เช่น ร้านอาหารให้เปิดบริการเฉพาะนำกลับ และการกำหนดเวลาการเข้าออกเคหสถาน เป็นเวลา 14 วัน (ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 63 – 3 ม.ค. 64) 
  ทั้งนี้ จ.สมุทรสาคร มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวพักค้างและแบบไปเช้า-เย็นกลับ เฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านคน  ซึ่งตลาดนักท่องเที่ยวหลักจะเป็นนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันได้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยทั่วประเทศ แต่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ จ.สมุทรสาคร 
หลังจากที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้ สถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทยอยกลับมาฟื้นตัวแต่ยังอยู่ระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายจังหวัด จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า อัตราการเข้าพักในเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ 22.4% ลดลงจากเดือนก.ย. 63 ที่อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 23.4% ขณะที่การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้มีการประกาศห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และโรงแรมและที่พักในจ.สมุทรสาครยังสามารถเปิดให้บริการได้ก็ตาม แต่จากข้อมูลข่าวสารการพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดทำให้นักท่องเที่ยวมีการยกเลิกและเลื่อนการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ แม้แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งจะอยู่ห่างจากจุดที่เป็นศูนย์กลางการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็ตาม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่จะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในจ.สมุทรสาครในช่วงระยะเวลา 1 เดือนนี้ (ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 63 – 19 ม.ค.64) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 180-200 ล้านบาท (ภายใต้สมมติฐานที่ทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่โซนที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากและไม่ได้กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด และทางการยังไม่มีมาตรการในการห้ามการเดินทางระหว่างจังหวัด) ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการกระทำได้ คือ การอัพเดทข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ประกอบการ อาทิ Facebook  เว็บไซต์ หรือช่องทางไลน์ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับลูกค้าในตัดสินใจวางแผนเดินทางท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์ของโควิด-19 ดีขึ้น รวมถึงการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการ

















                                                                                                                                                    ​ ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​          
                   





Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest