Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 เมษายน 2563

Econ Digest

COVID-19 Social Distancing พลิกโฉมไทย...สู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล

คะแนนเฉลี่ย

​ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 จะเห็นว่า ในหลายๆ ประเทศได้มีการนำและพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่โดดเด่นในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล หนีไม่พ้นในประเทศจีน ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี AI บล็อกเชน ไบโอเมทริกซ์ หุ่นยนต์ โดรน การวิจัย บริการด้านข้อมูล รวมถึงการผลิตยา/วัคซีน ชุดตรวจสอบโรค หน้ากากอนามัย และการก่อสร้างโรงพยาบาล มาประยุกต์ใช้เพื่อให้การคัดกรองและรักษาผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีน ทำให้ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนน่าจะผ่านจุดสูงสุดและสถานการณ์คงจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากจีนแล้ว ประเทศอื่นทั่วโลกก็มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เช่นกัน ซึ่งก็รวมถึงการใช้การพิมพ์สามมิติในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งความร่วมมือกันในระดับประเทศในการวิจัยและพัฒนายา/วัคซีน   

สำหรับในประเทศไทย ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นนั้น ก็มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์เช่นกัน ที่น่าสนใจคือ บางอย่างถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยคนไทยหรือผู้ประกอบการไทย เช่น การพัฒนาชุดตรวจสอบโรค การพัฒนาหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติเฉพาะ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ข้อมูลพื้นที่/จุดจำหน่ายหน้ากกาอนามัย แอพฯการบันทึกข้อมูลการเดินทางและพื้นที่เสี่ยง การพัฒนาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตราไวโอเล็ต (UV) เป็นต้น สะท้อนว่า นอกจากศักยภาพด้านการให้บริการทางการแพทย์แล้ว ประเทศไทยก็มีความสามารถในการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ในฝั่งของภาคธุรกิจและผู้บริโภคเอง เพื่อให้สอดรับกับมาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องปรับตัวและใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานที่บ้าน การศึกษาออนไลน์ การซื้อขายสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นผ่านช่องทางออนไลน์ การใช้ซอฟต์แวร์/แอพพลิเคชั่นต่างๆ เห็นได้จากปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่วัดด้วยจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ (Unique IP) เฉลี่ยต่อวันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากช่วงปลายปีก่อนมีโควิด-19 และคาดว่าอัตราการเพิ่มน่าจะมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ขณะเดียวกัน การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทั้งปริมาณและมูลค่าของตลาดการส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้าย (Last-mile Delivery) จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่าช่วงปกติราว 10-15% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2563 ส่วนในด้านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนก็คงจะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติเช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ แม้ว่าในด้านเม็ดเงินของกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะไม่สามารถชดเชยรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักที่สูญเสียไปจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ฉุดเศรษฐกิจไทยให้ตกอยู่ในภาวะถดถอยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก แต่หากมองในแง่บวกแล้ว ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่คนในประเทศได้หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพร้อมๆ กันอย่างรวดเร็ว เมื่อประกอบกับการพัฒนาจากฝั่งผู้ผลิตเพื่อพยายามลดอุปสรรค/อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว หากมีการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เหล่านี้ให้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็น่าจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจต่างๆ ตามมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งเราอยากเห็นการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่เฉพาะในช่วงที่มีการ Lockdown เท่านั้น แต่ความท้าทายอยู่ที่ทำเช่นไรจะให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องได้หลังจากที่เหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยจะไปต่อได้ไกลแค่ไหน สุดท้ายยังคงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างบูรณาการจากทุกฝ่าย และการใช้โอกาสในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ว่าจะสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ได้จริงเพียงใด เป็นสำคัญ


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest